วันนี้(8เมษายน)เตรียมชมปรากฏการณ์ ”สุริยุปราคาเต็มดวง“ ด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ระบุยังไม่มีรายงานจะเกิด “พายุสุริยะ”

ข้อมูลจาก เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า ในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ มีข้อมูลที่แชร์กันอย่างล้นหลามผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นคลิปเตือนภัยว่า NASA ได้ออกมาประกาศว่าในวันที่ 8 เมษายน 2567 จะเกิดพายุสุริยะขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับโลก ซึ่งวันดังกล่าวตรงกับวันที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง แท้จริงแล้ว เบื้องต้นยังไม่มีรายงานถึงพายุสุริยะในวันดังกล่าว และ #ปรากฏการณ์สุริยุปราคา ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเกิดพายุสุริยะ

จากข้อมูลในเว็บไซต์ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) https://www.noaa.gov/ ของ NASA ที่ใช้สำหรับแจ้งเตือน และเฝ้าระวังภัยจากพายุสุริยะ ยังไม่มีการกล่าวถึง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพายุสุริยะในวันที่ 8 เมษายน 2567 แต่อย่างใด 

ล่าสุดมีเพียงข้อมูลการเตือนภัยในช่วงวันที่ 23-24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาเท่านั้น เกี่ยวกับการเกิดพายุสุริยะ ระดับ G4 ที่มาถึงโลกในวันที่ 24 มีนาคม นับว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างหาได้ยาก อาจเรียกได้ว่าเป็นพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2560 

พายุสุริยะนั้น เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยมวล (Coronal Mass Ejections: CME) ซึ่งเป็นอนุภาคมีประจุ พุ่งไปในอวกาศ เมื่ออนุภาคมีประจุเหล่านี้มาเยือนยังโลก อาจเกิดการรบกวนต่อการทำงานของดาวเทียม เช่น GPS และนักบินอวกาศที่อยู่นอกสถานีอวกาศอาจจะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ พายุสุริยะที่รุนแรงสามารถเบี่ยงสนามแม่เหล็กของโลก ก่อให้เกิดการรบกวนต่อระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าบนโลกโดยเฉพาะในละติจูดสูง ๆ ได้ และจะเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือแสงใต้ หรือออโรรา ให้เห็นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งพายุสุริยะในระดับ G4 ที่ผ่านมาในวันที่ 24 มีนาคมนั้น ไม่ได้เกิดอันตราย หรือรบกวนต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ บนพื้นโลกแต่อย่างใด มีเพียงรายงานไฟฟ้าขัดข้องในบางพื้นที่ของประเทศแคนาดา และการพบแสงออโรราที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่แถบขั้วโลกเพียงเท่านั้น เนื่องจากสนามแม่เหล็ก และชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของโลก จะสามารถป้องกันอนุภาค และรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เอาไว้ได้นั่นเอง

ปกติแล้วดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยพลังงานซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ และจะปลดปล่อยพลังงานมากขึ้น ในช่วง Solar Maximum ของวัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) ที่กำลังจะมาถึงในปี 2567 นี้ อย่างไรก็ตาม วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) เป็นเพียงช่วงความถี่ที่จะพบกับจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) รวมถึงพายุสุริยะในระดับต่าง ๆ เท่านั้นเอง และไม่ส่งผลต่อการปลดปล่อยพลังงาน หรือปริมาณแสงอาทิตย์แต่อย่างใด และปกติแล้วในช่วงที่ดวงอาทิตย์ใกล้เข้าสู่ “Solar Maximum” จะมีการแจ้งเตือนถึงพฤติกรรมบนดวงอาทิตย์ที่บ่อยครั้งกว่าปกติ อาจส่งผลให้มีการคาดการณ์ถึงการเกิดอันตรายบนโลกได้ 

สำหรับข่าวที่มีการแชร์ในช่วงนี้ คาดว่าเป็นการนำเอาข่าวเตือนภัยพายุสุริยะในครั้งก่อน ๆ มาบวกกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งในขณะที่พายุสุริยะนั้นเกิดขึ้นมาจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์ แต่สุริยุปราคานั้นเกิดขึ้นจากการที่ดวงจันทร์บังเอิญโคจรมาบดบังดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด 

และสำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันนี้ (8 เมษายน 2567) เป็นสุริยุปราคาที่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา คราสเต็มดวงอาจยาวนานถึง 4 นาที อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้

IMG 0715

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตได้ แนวคราสเต็มดวงจะพาดผ่านบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ บริเวณประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เริ่มจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่เวลา 22:42 – 03:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุด 4 นาที 28 วินาที  

ปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก เมื่อดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้ามาอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนโลก คือ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ลดลง รูปร่างของดวงอาทิตย์จะเว้าแหว่งไปบางส่วน หรือถูกบังจนหมดทั้งดวงขึ้นอยู่กับรูปแบบการบัง  

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 8 เมษายน 2567 จะเป็นแบบ “สุริยุปราคาเต็มดวง” เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์โคจรมาใกล้โลก ทำให้เราเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ มากพอจะบังดวงอาทิตย์ได้หมด เมื่อวัตถุทั้งสามเรียงตัวกันในแนวเส้นตรง จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง #นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญมาก ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาชั้นโคโรนาและวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบที่มีอยู่ในบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ได้ 

IMG 0716

สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 30/71 ชุดซารอสที่ 139 เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 22:42 น. ของวันที่ 8 เมษายน 2567 ตามเวลาประเทศไทย แต่ในประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เงามืดของดวงจันทร์จะเริ่มสัมผัสพื้นโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เวลาประมาณ 23:39 น. ของวันที่ 8 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย 

จากนั้นจะพาดผ่านประเทศแม็กซิโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสิ้นสุดคราสเต็มดวงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก ในเวลาประมาณ 02:55 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย (จุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่บริเวณเมืองนาซาส รัฐดูรังโก ประเทศเม็กซิโก ระยะเวลานานถึง 4 นาที 28 วินาที) และเงาของดวงจันทร์จะพ้นจากโลกโดยสมบูรณ์เวลาประมาณ 03:52 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย

การเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญในครั้งนี้ ประเทศที่อยู่ในแนวคราส โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวอเมริกันจำนวนหลายล้านคนจะได้ชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง หลังจากเกิดครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ยังดึงดูดให้นักดาราศาสตร์และผู้สนใจจากทั่วโลกเดินทางมาชมปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

สิ่งที่นักดาราศาสตร์สนใจศึกษา ได้แก่ โคโรนา ซึ่งเป็นส่วนนอกสุดของชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ มองเห็นได้เฉพาะตอนเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ ในช่วงก่อนและหลังเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เพื่อเทียบเคียงลักษณะภูมิประเทศบนดวงจันทร์จาก และปรากฏการณ์ทางแสง ต่าง ๆ ในช่วงก่อนและหลังเกิดปรากฏการณ์ เป็นต้น