นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการจัดเตรียมพระโคในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 พร้อมด้วยเทพีคู่หาบทอง-คู่หาบเงิน ผู้ปฏิบัติหน้าที่จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
โดยพระโคแรกนาขวัญ และพระโคสำรองในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 ที่กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกจำนวน 2 คู่ คือ พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง และพระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล เป็นโคพันธุ์ขาวลำพูนที่ได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์ คือ เป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย มีเขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม
สำหรับพระโคในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวร ซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล ซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมทั้งเทพีคู่หาบทอง-คู่หาบเงิน ได้รับชมการสาธิตการฝึกซ้อมไถโดยพระโคคู่แรกนา และพระโคสำรอง รวมทั้งร่วมการฝึกซ้อมไถกับพระโคคู่แรกนา ณ ลานอเนกประสงค์ ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี ซึ่งการตรวจเยี่ยมการจัดเตรียมพระโคในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ณ มลฑลพิธีท้องสนามหลวง อีกด้วย