องคมนตรี ติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างอ่างฯลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชี หวังแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 65 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะฯ ลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 นายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ

1479652 1

โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะ ได้พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ได้รับประโยชน์ที่อยู่ในพื้นที่โครงการ เพื่อรับทราบความเป็นอยู่รวมถึงปัญหาอุปสรรค และความต้องการการใช้น้ำในของพี่น้องประชาชนในพื้นที่โครงการ ฯ เพื่อต่อยอดโครงการให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อไป ณ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

สำหรับความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีความจุ 46.90 ล้านลูกบาศก์เมตร จะแล้วเสร็จในปี 2567 ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานร้อยละ 44 เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และพัฒนาพื้นที่ชลประทานได้ 40,000 ไร่ ส่งผลให้ราษฎรได้รับประโยชน์ 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน จำนวน
5,145 ครัวเรือน ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการฯดังกล่าวให้เร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

1479655 1

ด้านผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชี ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 49,000 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ชลประทาน 1.30 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี หนองบัวลำภู และอุดรธานี มีแหล่งน้ำเก็บกักน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาว รวมไปถึงอ่างขนาดกลาง อีก 69 แห่ง รวมทั้งสิ้น 72 แห่ง แต่เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของลำน้ำชี มีสภาพที่คดเคี้ยว บางช่วงกว้าง บางช่วงแคบ และเป็นลำน้ำที่ยาวถึง 1,047 กิโลเมตร บริเวณตอนบนมีลักษณะเป็นต้นน้ำ ส่วนบริเวณตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำและมีแม่น้ำหลายสายไหลลงมารวมกัน ทำให้เกิดปัญหาระบายน้ำไม่ทัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำชีอยู่บ่อยครั้ง ส่วนในฤดูแล้งมักประสบภัยแล้ง ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ และความต้องการน้ำของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ยังมีไม่เพียงพอ และระบบกระจายน้ำไม่ครอบคลุมพื้นที่ ทำให้บริเวณลุ่มน้ำชี เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก พระบาทสมเด็จบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2526 ให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำตรงบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาของลำน้ำชี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีเดิม ให้สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งมีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย

1479656

กรมชลประทานได้น้อมนำพระราชดำริ โดยการศึกษาวางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชี จำนวน 99 โครงการ ซึ่งมีลักษณะการจัดการตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำเน้นการเก็บกักน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุด ในบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำชี เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำเจียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลการดำเนินงานร้อยละ 3 อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร ผลการดำเนินงานร้อยละ 97 อ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลการดำเนินงานร้อยละ 44 อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลการดำเนินงานร้อยละ 20 และ อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) ผลการดำเนินงานร้อยละ 20 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 5 โครงการ จะมีความจุรวม 240 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 188,000 ไร่ ในส่วนของกลางน้ำและปลายน้ำ เป็นการหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำ โดยจะมีการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งสิ้น 94 โครงการ แบ่งเป็น โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 5 แห่ง ความจุรวม 66 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 57,000 ไร่ และโครงการก่อสร้างแก้มลิงทั้งสองฝั่งลำน้ำชี รวม 89 โครงการ ซึ่งผลการดำเนินการทั้งโครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 21 โครงการ ดำเนินการในปี 2566 อีก 21 โครงการ และดำเนินการในปี 2567 จำนวน 47 โครงการ และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จครบทุกโครงการ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 184 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์กว่า 73,692 ไร่

1479657 1

“หากรวมทุกโครงการตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชี จำนวน 99 โครงการ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้อีก 424 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 261,692 ไร่ ถือเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและความมั่นคงด้านน้ำในลำน้ำชี อีกทั้งโครงการต่างๆ ยังเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำชีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการแก้ปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ลำน้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว