ความนิยมพุ่ง “อาหารโปรตีนจากแมลง” อีก 5 ปี โต 5 เท่าตัว

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัจจุบันวิถีการบริโภคของประชาชนได้ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสของสังคมและเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร มีการนำแหล่งสารอาหารที่มีประโยชน์มาพัฒนาเป็นอาหารในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับกลุ่มผู้รักสุขภาพ อาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) หรืออาหารคลีน (Clean Food) อาหารจากพืช (Plant-based Food) อาหารวีแกน(Vegan)และอาหารคีโต (Keto)

รวมทั้งอาหารที่ผลิตจากโปรตีนทางเลือก เช่น แมลง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอาหารใหม่ (Novel Food) โดยปัจจุบันอาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของแมลง เริ่มได้รับความนิยมเนื่องจากมีคุณค่าทางสารอาหารจำนวนมาก มีโปรตีนสูงไม่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์หลัก รวมทั้งมีแร่ธาตุ แคลเซียม ไฟเบอร์ วิตามินสูง และไขมันต่ำ

shutterstock 1263188812
อาหารโปรตีนจากแมลง

ปัจจุบัน “ตลาดแมลงทั่วโลก” มีมูลค่ามากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าในปี 2570 มูลค่าการตลาดของอาหารโปรตีนจากแมลง จะสูงถึง 2,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตันต่อปี และมีฟาร์มเลี้ยงจำนวนมากโดยเฉพาะ “จิ้งหรีด” ซึ่งเป็นแมลงที่มีการเพาะเลี้ยงมากกว่า 23,000 ฟาร์ม

3c96d32c 4a7a 405e b8b7 6aeeac1ac4d1
ปี 2570 มูลค่าการตลาดของอาหารโปรตีนจากแมลง จะสูงถึง 2,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากสถิติการส่งออกในปี 2564 ปริมาณการส่งออกแมลงและอาหารแปรรูปที่ทำจากแมลง มีจำนวน 575 ตัน คิดเป็นมูลค่า1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 96.27% โดยตลาดส่งออกของไทย 5 อันดับแรกคือ กัมพูชา คิดเป็นสัดส่วน 47.80% สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 26.07% ญี่ปุ่น สัดส่วน 12.28% เมียนมา สัดส่วน 4.69% และฮ่องกง สัดส่วน 6.51%

สนค. วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเพาะเลี้ยงและผลิตโปรตีนทางเลือกจากแมลงเนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของแมลง มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปอาหารที่ทันสมัย

นอกจากนี้ในกระบวนการเพาะเลี้ยงและการผลิตใช้ทรัพยากรน้อยกว่าสัตว์อื่น ๆ เนื่องจากวงจรการเติบโตของแมลงมีระยะสั้น จึงก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนน้อย และเกิดแก๊สมีเทนที่จะสร้างปัญหาต่อก๊าซเรือนกระจกต่ำ

ปัจจุบันไทยสามารถผลิต “แมลงเศรษฐกิจ” ได้เกือบ 200 ชนิด แต่แมลงที่เป็นที่นิยมมากในการผลิต คือ จิ้งหรีด นอกจากนี้สหภาพยุโรปได้อนุมัติแมลงเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น หนอนนก (Mealworms) และตั๊กแตน (European locust) ให้เป็นอาหารสำหรับการบริโภคได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถเพาะขยายพันธุ์ เพื่อการส่งออก และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อาทิ อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารเสริมโปรตีน รวมทั้งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อขยายฐานการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลค่าตลาดของอาหารแห่งอนาคต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสของเกษตรกรรายย่อยที่จะเพาะเลี้ยง และพัฒนาการเลี้ยงแมลงให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ รวมทั้งเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลง ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงแมลงที่มีคุณภาพ ปลอดภัย รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารซุปเปอร์ฟู้ดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร และสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ