สธ.เรียกประชุมด่วน หลัง WHO ประกาศให้”โรคฝีดาษลิง” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ 

สธ.เรียกประชุมด่วน หลังองค์การอนามัยโลก ประกาศ”โรคฝีดาษลิง”เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า16,000 คน 

มีรายงานว่าวันนี้(24ก.ค.65)นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นประธานประชุมคณะผู้บริหาร เพื่อเตรียมแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร ภายหลังองค์การอนามัยโลก(WHO)ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนกรณีชายชาวไนจีเรีย ผู้ป่วย “ฝีดาษลิง” รายแรกในประเทศไทย ได้หลบหนีการรักษาตัวจากโรงพยาบาลภูเก็ต พบความเคลื่อนไหวที่ชายแดนจังหวัดสระแก้ว ก่อนหนีออกไปยังประเทศกัมพูชาในช่องทางธรรมชาติ ล่าสุดชายไนจีเรียรายดังกล่าว ถูกตำรวจกัมพูชาจับตัวได้ที่ตลาดดีมทคอฟ อำเภอจามการมณ ในกรุงพนมเปญ เมื่อช่วงเย็นวานนี้

เมื่อวานนี้ นายเท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO) แถลงภายหลังการหารือกับคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ”ฝีดาษลิง” ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ(PHEIC)แล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค(CDC) ของสหรัฐระบุว่า มีรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงมากกว่า 16,000 รายใน 75 ประเทศ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ จะทำให้ WHO สามารถระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงได้มากขึ้น และจะเกิดความร่วมมือระดับนานาชาติในการรักษาและแบ่งปันวัคซีน รวมทั้งการออกมาตรการด้านการค้าและการเดินทาง โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่สนามบินได้

04B23ADE 5750 4A7B A42F 675638A929ED

สำหรับประเทศไทยก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน “โรคฝีดาษวานร” หรือ “ฝีดาษลิง”(Patient Under Investigation) สำหรับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศไว้ดังนี้ 

1. มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส หรือประวัติมีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต 

2. มีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด

3. เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน 

โรคฝีดาษลิง เป็นโรคจากสัตว์สู่คน (Zoonosis Diseases) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (small pox) แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าโรคฝีดาษมาก ในปี พ.ศ. 2501(ค.ศ. 1958) เกิดโรคระบาดในลิงที่ใช้เพื่อการศึกษาวิจัย ทำให้ได้ค้นพบโรคฝีดาษลิงดังกล่าว  โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อที่พบในทวีปแอฟริกา โดย มีสองสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกซึ่งอาการไม่รุนแรง และสายพันธุ์แอฟริกากลางซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10

การติดต่อโรค

  • โรคฝีดาษลิงติดต่อจากสัตว์ขนาดเล็กในกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนมที่มาจากทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในสัตว์ฟันแทะ กระรอก และลิง
  • การติดต่อโรคจากสัตว์สู่คน เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผล หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก โดยปัจจุบันพบเฉพาะในสัตว์ที่มาจากทวีปแอฟริกา ยังไม่พบในประเทศไทย
  • การติดต่อโรคจากคนสู่คน เป็นสาเหตุของการระบาดหลักนอกทวีปแอฟริกา ตั้งแต่เดือนพค 2565 มีรายงานผู้ติดเชื้อจากหลายประเทศในทวีปยุโรปจำนวนเป็นหลักร้อยราย เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับ ผื่น แผลหรือสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือหลังสัมผัสกับวัตถุปนเปื้อนติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้าหรือเครื่องนอนของคนป่วย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ก็ทำให้ผู้สัมผัสติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้ เช่นกัน
  • อีกส่วนหนึ่งของการระบาดตั้งแต่ต้นปีนี้ เข้าใจว่าเป็นการติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อที่มีผื่น ในกลุ่มชายรักชาย

ประชาชนที่ได้รับวัคซีนหรือเคยเป็นไข้ทรพิษมาแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษลิงได้ แต่ในปัจจุบันไม่มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทรพิษให้คนทั่วไปเนื่องจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคนี้หมดไปในปีพ.ศ. 2523 (ค.ศ.1980)

อาการระยะฟักตัวหลังติดเชื้อก่อนเริ่มมีอาการ ปกติจะนาน 7-14 วัน แต่อาจเป็นเวลาที่กว้างขึ้นได้ถึง 5-21วัน อาการในระยะแรกคล้าย ไข้หวัดใหญ่ โดยมีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และมักพบมีต่อมน้ำเหลืองโต ร่วมด้วย  

หลังจากเริ่มมีไข้ได้ 1-3วัน จะเริ่มมีผื่นลักษณะเป็นตุ่มขึ้นที่ใบหน้าแล้วกระจายไปที่ลำตัว แขนและขาได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง บางครั้งผื่นพบเฉพาะบริเวณร่มผ้า  ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะตกสะเก็ดแล้วหลุดออกมา  อาการป่วยจะนานประมาณ 2-4 สัปดาห์ หลังจากผื่นหายมักจะไม่กลายเป็นแผลเป็น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้