ทุกปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก กมธ.การเกษตรฯนัดถก 4 ส.ค.นี้

นาย ศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราด ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการเกษตรฯ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงไปรับฟังข้อมูลกลุ่มผู้ปลูกมังคุดในพื้นที่ จ.ตราด และใกล้เคียง ซึ่งได้สะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไขมาให้เนื่องจากฤดูกาลที่ผ่านมา ราคาขายมังคุดของชาวสวนลดลงอย่างเร็วมากเพียงแค่สัปดาห์เดียว ราคารับซื้อร่วงไม่เป็นท่า แม้จะแทรกแซงการตลาด แต่ราคาขายมังคุดไม่ได้กระเตื้องขึ้น

ล่าสุดพบว่า ชาวสวนมังคุด เริ่มโค่นต้นมังคุดทิ้ง และหันไปปลูกทุเรียน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มังคุดถือเป็นราชินีผลไม้ภาคตะวันออก และต่างประเทศ(จีน)รับซื้อหมด แต่จากข้อมูลที่ถูกสะท้อนออกมาพอจะทราบแล้วว่าเกิดปัญหาตรงจุดใด

เช่นเดียวกับปัญหาทุเรียนในปีนี้ พบมีความพยายามส่งออกทุเรียนอ่อน และสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย แม้เจ้าหน้าที่จะจับกุมได้ แต่การดำเนินคดียังไม่มีความคืบหน้า เรื่องนี้จะนำเข้า กมธ.การเกษตรฯ ด้วย เพื่อต้องการให้มีการเร่งรัดคดีที่คั่งค้าง และเกรงว่า ทุเรียน จะเป็นผลไม้ชนิดต่อไป ที่จะตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกับมังคุดและลำไย

สำหรับปัญหาลำไย พบเช่นเดียวกัน และจะนำเข้าที่ประชุม กมธ.การเกษตรฯ เพื่อเตรียมหาทางแก้ไขแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนเช่นที่ผ่านมาด้วย

4DAE8EBA 723A 48C3 92C6 263EA5CE1341

พร้อมย้ำว่า ปัญหาผลไม้ ทั้ง 3 ชนิด จะต้องได้รับการแก้ไขจริงจัง โดยเฉพาะขบวนการกดราคารับซื้อผลไม้จากชาวสวน ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการฮั้วกัน หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกิดจากพ่อค้าคนกลาง หรือผู้ประกอบการบางคน ที่ต้องได้ระบการแก้ไข โดยจะนำเข้าหารือในที่ประชุม กมธ.การเกษตรฯ วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นี้ และจะเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลด้วย รวมถึงการหารือการเพิ่มโทษในการดำเนินคดีผู้กระทำผิดด้วย

631570F2 F263 4EFB 8C08 53BCE3EEDEF8

ขณะที่นาย ธนกฤต เขียวขจี ประธาน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มมังคุดคุณภาพดงกลาง จ.ตราด บอกว่า ปัญหาราคามังคุดตกต่ำอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการบางกลุ่มที่กดราคารับซื้อ เพราะจากข้อมูลของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ รายงานพบว่า ราคาปลายทางที่ต่างประเทศไม่ได้ลดลง และยังคงซื้อในราคาเดิม แต่ราคาหน้าสวนกลับลดลง ซึ่งเชื่อว่าเป็นกระบวนการกดราคา และเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้