เวลา 20.00 น. ( 17 พ.ค. 2567 ) น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขต 3 พรรคประชาชน เปิดเผยว่า ตนเองและเพื่อน ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ทั้งจังหวัดจันทบุรีและตราด ได้มีโอกาสพบคณะของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง ระหว่างลงพื้นที่ติดตามรับฟังปัญหาการส่งออกผลไม้ รวมถึงแนวทางการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเกี่ยวกับผลไม้ส่งออกในปีถัดไป
น.ส.ญาณธิชาฯ ระบุว่า ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อรับฟังปัญหาการส่งออกทุเรียน มังคุด และอื่นๆ จากชาวสวนโดยตรง ถือว่าได้รับทราบข้อมูลและความต้องการจากชาวสวนไปแล้ว
ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ปัญหาการส่งออกผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนเริ่มคลี่คลายเพราะเมื่อประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้เกิดวิกฤติการส่งออกผลไม้ค่อนข้างมากทั้งเรื่องของ Lab ที่ใช้ในการตรวจหาสารปนเปื้อนในทุเรียน / การตรวจพบสาร BY2 ในทุเรียน / ทุเรียนอ่อนที่ถูกส่งออกไปยังปลายทาง / ปัญหารถสะสมหน้าด่านก่อนเข้าจีนเพื่อรอตรวจสารปนเปื้อน รวมถึงปัญหาทุเรียนเพื่อนบ้านที่มีข่าวเข้ามาว่า กำลังจะเข้าไทย ในขณะนั้นชาวสวนมีความรู้สึกมืดมนกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งปัญหาเริ่มคลี่คลาย จึงมองว่าหากเป็นไปได้นายกรัฐมนตรี ควรลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากชาวสวนและผู้ประกอบการในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤติปัญหา เพราะจะได้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด จากนี้ในฐานะ ส.ส. จันทบุรี จะติดตาม และสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น จากชาวสวนและชาวบ้านในพื้นที่ไปสู่รัฐบาลเป็นระยะ
นอกจากนี้ยังได้เสนอปัญหาอีก 2 เรื่อง คือ เรื่องแรงงานต่างด้าวตาม 64 ในภาคเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยติดตามความคืบหน้าในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
และขอให้นายกฯช่วยผลักดันงบเยียวยา ผู้ประสบภัยจากช้างป่าที่กรมอุทยานฯ เสนอของบกลางไป 100 ล้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นปัญหากรณีพิเศษจะลงพื้นที่ด้วยตนเอง เพื่อรับฟังปัญหาอย่างใกล้ชิด เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและพิจารณาว่าสามารถให้ความช่วยเหลือในรูปแบบใดได้บ้าง พร้อมทั้งจะประสานงานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ด้านนายกฤษกิตติเดช อยู่รอด เลขาธิการสมาคมทุเรียนไทย เปิดเผยว่า พอใจภาพรวมการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ที่มาพูดคุยกับกลุ่มชาวสวนและผู้ประกอบการ อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่า รัฐบาล ยังใส่ใจที่จะช่วยเหลือเกษตรกร แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะย้ำ คือ ข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ที่มอบให้นายกรัฐมนตรี อยากให้ดำเนินการเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจส่งออกผลไม้ และรักษาผู้ประกอบการกลุ่มเดิมให้ยังอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด ไม่ย้ายฐานการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากการทำธุรกิจส่งออกผลไม้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาทต่อราย จำเป็นต้องพึ่งพานักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อที่จะสามารถจัดการผลผลิตจำนวนมากได้ทันเวลาและราคาขายเป็นไปตามกลไกตลาดไม่ถูกกดราคา การจัดตั้งห้องปฏิบัติการในพื้นที่ จ.จันทบุรี โดยมีสถาบันการศึกษาพร้อมดำเนินการ /สนับสนุนแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการส่งออกทั้งชาวไทยและต่างชาติเช่นเดียวกับผู้ประกอบการSME เพิ่มช่องทางในการส่งออกผลไม้ให้มากขึ้นเพื่อรองรับผลผลิตในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นทางรถ เรือ รถไฟ เครื่องบิน
รวมถึงการโปรโมททุเรียนไทยและผลไม้ไทยชนิดอื่นๆในประเทศจีน เพื่อรักษาLoyaltyกับลูกค้าชาวจีนโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์สื่อสารกับผู้บริโภคที่หลากหลาย เป็นต้น