เกษตรกรเฮ! ชริมพ์บอร์ดประกาศประกันราคาขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา พร้อมข่าวดี…เคาะโครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียวฯเสนอ คบท.

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ได้จัดประชุมฯ ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องประชุมพะยูน ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์กรมประมง โดยมี นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุม ฯ พร้อมด้วยนายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง และ Shrimp Board ได้ร่วมกันกำหนดราคาประกันขั้นต่ำกุ้งขาวแวนนาไมขนาดต่าง ๆ พร้อมแจงเงื่อนไขการรับซื้อและความต้องการวัตถุดิบกุ้งของโรงงาน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์การรับซื้อไปจนถึงสิ้นปี 2565 หวังรักษาเสถียรภาพราคา และสร้างความเชื่อมั่นในการลงกุ้งให้กับเกษตรกร โดยมีราคาและเงื่อนไขฯ ดังนี้

ขนาด (ตัว/กก.) ราคา (บาท/กิโลกรัม)

30  180

35  175

40  165

45  160

50  155

55  150

60  145

70  135

80  128

90  123

100  119

เกณฑ์พิจารณาคุณภาพกุ้งมี 3 ด้าน ดังนี้

1) เกณฑ์มาตรฐานทางกายภาพ

– ต้องไม่มีห่างไหม้ เนื้อน้ำตาล เปลือกหลุด หางกุดท้องดำ แผลที่เกิดจากการติดเชื้อและทำความเสียหายให้กับเนื้อกุ้ง

– แผลที่เกิดกับเปลือกกุ้งแต่ไม่เสียหายกับเนื้อกุ้ง ไม่เกินร้อยละ 15

– ตัวนิ่ม ไม่เกินร้อยละ 5 – กุ้งผอม ไม่เกินร้อยละ 5

– กุ้งพิการ ไม่เกินร้อยละ 5 – ตัวกึ่งนิ่ม หรือน่วม ไม่เกินร้อยละ 10

– ปล้องแตก หางกุด เว้าแหว่ง ไม่เกินร้อยละ 10

2) เกณฑ์มาตรฐานทางกลิ่น ต้องไม่มีกลิ่นหญ้า กลิ่นโคลน กลิ่นน้ำเน่า กลิ่นน้ำมัน กลิ่นข้าวโพด หรือกลิ่นผิดปกติอื่น ๆ

3) เกณฑ์มาตรฐานทางเคมี (สารตกค้าง) ฟาร์มที่ขายกุ้งในโครงการฯ ต้องมีผลตรวจสารตกค้าง 3 รายการ ได้แก่ Nitrofurans Fluoroquinolone และ Tetracycline ให้กับโรงงาน ณ วันจับกุ้ง หากผลการตรวจพบสารตกค้างทางห้องเย็นจะไม่รับซื้อกุ้งบ่อนั้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปย้ำชัดเป็นราคารับซื้อปากบ่อ และเน้น กุ้งสวย สด ขนาดได้

BEB5E2D6 83CC 4CD0 B856 377D8B121A08

ข่าวดีต่อที่สอง… Shrimp Board เห็นชอบ “โครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียวเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลสำหรับบริโภคภายในประเทศ ปี 2565” วงเงินรวม 164.80 ล้านบาท เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าอาหารของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลในรูปแบบการจ้างผลิตอาหารโดยตรงกับโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ โดยจะเสนอโครงการฯต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมฯ ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาไม่เกินเดือนกันยายน 2565 นี้

นอกจากนี้ Shrimp Board ได้ร่วมกันพิจารณาสถานการณ์ผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย ปี 2565 (ม.ค. – ก.ค.) ซึ่งมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยง รวมทั้งสิ้น 138, 7 33.18 ตัน จำแนกเป็นกุ้งขาวแวนนาไม129,100.44 ตัน (ร้อยละ 93.06) และกุ้งกุลาดำ 9,632.74 ตัน (ร้อยละ 6.94) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา(ม.ค. – ก.ค. 64) ผลผลิตลดลงเพียงร้อยละ 3.09 ซึ่งไม่มากนัก 

FB1C8E85 3574 4D09 BDF8 379F99D70B1E

โดยกุ้งขาวแวนนาไมมีประสิทธิภาพการผลิตเฉลี่ย 7.09 ตัน/ล้านตัว และกุ้งกลาดำมีประสิทธิภาพการผลิตเฉลี่ย 7.83 ตัน/ล้านตัว เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) พบว่า มีค่าเฉลี่ยประมาณ 4 – 5 ตัน/ล้านตัวแสดงให้เห็นว่า การผลิตกุ้งของไทยสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าวได้ในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่ง Shrimp Board เล็งเห็นว่า แต่ละพื้นที่การเลี้ยงกุ้งควรมีเกษตรกรต้นแบบการเลี้ยงที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้เกษตรกรรายอื่นได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพาร์มของตนเอง โดยได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานถอดบทเรียนการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งมีผู้แทนทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและผู้แทนเกษตรกร ร่วมเป็นคณะทำงานภายใต้การกำกับดูแลของ Shrimp Board ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ

9A32BD85 FAF1 42FF 8B30 041622BDDD2B

อธิบดีกรมประมง ประธาน Shrimp Board กล่าวในตอนท้ายว่า ภายใต้การทำงานของ Shrimp Boardและทุกภาคส่วน เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายร่วมกัน พร้อมเผยว่า Shrimp Board อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งอาจมีข่าวดีให้พี่น้องเกษตรกรในเร็ววันนี้