กรมการค้าภายในเผย”ไก่สด”เริ่มปรับราคาลง ส่วนหมูยังทรงตัว

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการที่กรมการค้าภายในได้ติดตามสถานการณ์ราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นทุกวัน พบว่า ปัจจุบันราคาชิ้นส่วนไก่เริ่มมีการทยอยปรับราคาลดลงในบางชิ้นส่วนเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเป็นผลจากปริมาณผลผลิตไก่ที่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และคาดว่าแนวโน้มราคาชิ้นส่วนไก่จะค่อย ๆ ทยอยลดลงในช่วงระยะต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต

301456482 639202777772266 5268758990278800247 n
ไก่สด เริ่มปรับราคาลง

สำหรับราคาเนื้อสุกร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังคงตรึงราคาแนะนำสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 100 บาท/กก. เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชนผู้บริโภค ส่วนราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงยังคงทรงตัวจากสัปดาห์ก่อน และยังอยู่ในระดับโครงสร้างราคาที่กรมการค้าภายในกำกับดูแล

ทั้งนี้ หากพบเห็นว่ามีการกักตุนหรือฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และหากตรวจสอบพบการกระทำผิดจะมีโทษตามมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีโทษจำคุก 7 ปีปรับ 140,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนทั่วโลกกำลังเจอกับภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างหนักหนาสาหัส แทบไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่ประสบภาวะเงินเฟ้อ

ในภาพรวมของทั้งปี 2022 หรือปี 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะมีนัยสำคัญทั่วโลก คาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อในประเทศกำลังพัฒนาจะแย่ลง อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยตลอดปีนี้จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ 8.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้วคาดว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ที่ 5.7 เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขคาดการณ์นี้ถูกปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน แต่ตัวเลขคาดการณ์ก่อนรัสเซียบุกยูเครนนั้นก็ค่อนข้างสูงอยู่ประมาณหนึ่งแล้ว เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานขยายตัวหลังจากสิ้นสุดการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก

IMF คาดว่าประเทศที่ประสบปัญหาความขัดแย้ง ความวุ่นวาย หรือปัญหาเศรษฐกิจในปี 2022 นี้ จะเห็นอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 7.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในกรณีนี้รวมถึงเวเนซุเอลา ซูดาน ซิมบับเว ตุรกี เยเมน และอาร์เจนตินา ส่วนอีกเกือบ 80 ประเทศ

ทั้งจากประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา คาดว่าจะมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะมีประมาณ 60 ประเทศที่สามารถรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ได้

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อระดับสูง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนักอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.65 เปอร์เซ็นต์ และอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สูงขึ้นอีกถึงระดับ 7.10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลข 7.10 เปอร์เซ็นต์นี้นับว่าสูงที่สุดในรอบ 14 ปี นับจากเดือนกรกฎาคมปี 2551 ที่อัตราเงินเฟ้อสูงมากถึง 9.20 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่ทำอัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นนั้น ปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า