ไทย-มองโกเลีย นับหนึ่งเพื่ออนาคตตลาดใหม่สินค้าไทย เร่งดันบินตรงมองโกเลีย-ภูเก็ต

วันที่ 6 กันยายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-มองโกเลีย ครั้งที่ 1 กับนางบัตต์เซตเสก บัตมุนห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมองโกเลีย( Mrs. Battsetseg Batmunkh, Minister of Foreign Affairs of Mongolia) พร้อมด้วยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและคณะ ที่กระทรวงการต่างประเทศ กรุงอูลานบาตาร์ ประเทศมองโกเลีย

S 80683022
ไทย-มองโกเลีย นับหนึ่งตลาดใหม่สินค้าไทย

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลีย ที่เรียกว่าการประชุม JTC ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและมองโกเลีย โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มองโกเลียเป็นเจ้าภาพและตนเป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้

สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ การประชุมครั้งนี้ได้ข้อสรุป 5 ข้อหลัก

1.ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายทางการค้าและการลงทุนร่วมกันในปี 2027 ในอีก 5 ปีข้างหน้า เป้าหมายทางการค้า จะทำตัวเลขการค้าใน 5 ปี ให้ได้ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 55 ล้านเหรียญสหรัฐและเป้าหมายการลงทุน ตั้งเป้า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้ตัวเลขการลงทุนอยู่ที่ 1,034 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตนถือโอกาสเชิญมองโกเลียประสานกับผู้นำเข้า นักธุรกิจ นักลงทุนมองโกเลีย เดินทางร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญในประเทศไทย 3 งาน 1)งาน STYLE Bangkok วันที่ 22-26 มี.ค.66 2)งาน THAIFEX – Anuga Asia วันที่ 23-27 พ.ค. 66 และ 3)งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair จะจัดขึ้น ก.ย.66 และ กระทรวงพาณิชย์จะช่วยประสานงานจัดให้มีการพบปะเจรจาระหว่างหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของมองโกเลียกับนักลงทุนจากประเทศไทย

3.ประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตหรือส่งออกอาหารให้กับมองโกเลีย เพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยสินค้าที่ไทยจะส่งออกไปมองโกเลียสำคัญประกอบด้วย ไก่แช่เย็น-แช่แข็ง อาหารทะเลแช่เย็น-แช่แข็งและแปรรูป ผลไม้ น้ำผลไม้ ผลไม้สด ผลไม้กระป๋องอาหารสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยว เป็นต้น และมองโกเลียจะเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบสำคัญให้กับประเทศไทย เช่น สินแร่รวมทั้งหนังสัตว์ ผ้าแคชเมียร์ เป็นต้น

4.ทั้งสองฝ่ายจะจัดให้มีความร่วมมือในสาขาที่สนใจร่วมกันต่อไปไม่ว่าจะเป็นการเกษตร อาหาร การท่องเที่ยวรวมถึงโลจิสติกส์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อำนวยความสะดวกมองโกเลียต่อไป

5.การส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายตกลง 1)จะทำความตกลงและคุ้มครองการลงทุนของทั้งสองฝ่ายโดยฝ่ายไทยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพ 2)เดินหน้าทำอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

และประการสุดท้ายมองโกเลียสนใจเปิดเที่ยวบินตรงอูลานบาตอร์เมืองหลวงของมองโกเลียไปภูเก็ต เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวมองโกเลียในช่วงฤดูหนาว ซึ่งขณะนี้สายการบิน Mongolian Airlines แจ้งความจำนงไปประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับสถาบันการบินพลเรือนจะเร่งพิจารณาคำขอนี้ให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์คาดว่า Mongolian Airlines จะพานักท่องเที่ยวบินตรงไปภูเก็ตได้

“มองโกเลียถือเป็นตลาดใหม่ สำหรับอาหารไทยเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวมองโกเลียอาจต้องใช้เวลา การเดินทางเที่ยวนี้ เป็นการนับหนึ่งไม่ใช่ให้กับปัจจุบันเท่านั้น แต่นับหนึ่งให้กับอนาคตตลาดใหม่ของสินค้าไทย อนาคตโอกาสนี้มีมาก เพียงแต่ตอนนี้ตัวเลขยังมีน้อย ถ้าเราไม่นับหนึ่งวันนี้จะมี 2 3 4 วันหน้าได้อย่างไร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว