นายทัณฑวัต พุทธวงค์ หัวหน้างานพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนใต้ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า พื้นที่ต้นแบบฯ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ของจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี จำนวน 6 หมู่บ้าน ปิดทองหลังพระฯ เริ่มเข้าไปดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ครบทุกครัวเรือน และมีแหล่งน้ำใช้ทำเกษตรตลอดทั้งปี 1,920 ไร่
สำหรับกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ มีเกษตรกรเข้าร่วม 761 ครัวเรือน และพัฒนารวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน 6 แห่ง กลุ่มอาชีพ 2 กลุ่ม และกลุ่มผู้ใช้น้ำ 4 กลุ่ม เกิดรูปแบบการบริหารจัดการกลุ่มที่ชุมชนพึ่งตนเองได้
โดยมีการสำรวจความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ พบว่าครัวเรือนผ่านเส้นความยากจนจาก 699 ครัวเรือน เพิ่มเป็น 879 ครัวเรือน จากที่มีอยู่ 1,119 ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.53
ด้านสังคมจิตวิทยา ชุมชนเกิดกระบวนการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ มีกลุ่มเกษตรกรเกิดความสามัคคีในชุมชน เชื่อมโยงการทำงานกับชุมชนอื่น ๆ การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มนั้น ใช้หลักการให้ชุมชนเกิดกระบวนการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ประชาชนมีแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โปร่งใส และมีการตรวจสอบบัญชีการเงิน โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
นอกจากนี้ยังส่งเสริม BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมแบบ 3 มิติไปพร้อมกัน ทั้งระบบเศรษฐกิจชีวภาพ การใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและระบบเศรษฐกิจสีเขียว แก้ปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืนให้ชุมชนดูแลสิ่งแวดล้อม
“ปัจจัยความสำเร็จดังกล่าว เริ่มจากมองการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นกระบวนการพัฒนา การค้นหาปัญหาที่แท้จริง หรือการระเบิดจากภายใน การมีส่วนร่วม และการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”
นายทัณฑวัต ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางในอนาคตจะเน้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดด้านการส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตร เพื่อลดแรงการลดต้นทุน และเหมาะสมแก่เกษตรกรวัยรุ่นยุคใหม่ให้เข้าถึงได้ แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า ลักษณะทำน้อยได้มาก เน้นทำตลาดออนไลน์และการตลาดเพื่อสุขภาพ
การจะขยายและต่อยอดผลโครงการฯ ด้วยการให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชนทั่วไป และนักศึกษาได้มาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ การประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริให้เป็น Social Lab ของการพัฒนาชนบท
เริ่มต้นที่หมู่บ้านฮูแตทูวอ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยจัดอบรมและฝึกปฏิบัติ 3 หลักสูตร
ประกอบด้วย 1.การประยุกต์ใช้กระบวนการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อให้ได้ปัญหาความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ดิน การลดรายจ่าย นำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาชุมชน
2.การประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ “ ทฤษฎีใหม่ ” ขั้นที่ 2 และ 3 การรวมกลุ่มและเชื่อมโยงภายนอก
และ 3. การวางแผนและการฝึกปฏิบัติด้านการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้มีรายได้ตลอดทั้งปี โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เขียนหลักสูตรนี้ขึ้น
ปิดทองหลังพระฯ ยังมีการส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้านที่มาให้ความรู้ มีการคัดเลือกจากเกษตรกรที่หัวไวใจสู้ ทำแล้วประสบความสำเร็จ เป็นผู้มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างจัดทำชุดองค์ความรู้รวม 20 ราย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจต่อไป ขณะเดียวกันได้สร้างคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้เป็นนักพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ต่อไปในอนาคต