พื้นที่ลุ่มน้ำ ชี-มูล ยังท่วมขังกว่า 2 แสนไร่

ข้อมูลจากดาวเทียม Cosmo-SkyMed-1 พบพื้นที่น้ำท่วมขัง 222,458 ไร่ บริเวณบางส่วนของจังหวัด กาฬสินธุ์ 12,463 ไร่ บุรีรัมย์ 3,985 ไร่ มหาสารคาม 19,530 ไร่ ยโสธร 25,521 ไร่ ร้อยเอ็ด 73,021 ไร่ ศรีสะเกษ 28,226 ไร่ สุรินทร์ 46,933 ไร่ อำนาจเจริญ 400 ไร่ อุดรธานี 101 ไร่ และ อุบลราชธานี 12,278 ไร่

ส่วนพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบแล้วทั้งสิ้น 131,227 ไร่

ตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วมขังอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th.

RZ8GLXC 1
น้ำท่วมขังสวน

ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ออกประกาศ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2565

เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำมูล

ด้วยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ติดตาม สถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน พบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศลเพิ่มมากขึ้นและระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนได้เพิ่มสูงขึ้นเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำมูลในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด

ประกอบกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในช่วงวันที่ 9 – 12 กันยายน 2565 จะมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ประสานให้กรมชลประทานพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ

คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศล อยู่ในเกณฑ์ 1,100 – 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมวลน้ำจะไหลไปรวมกับแม่น้ำชีและลำน้ำสาขาซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์ 2,500 – 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

โดยในช่วงวันที่ 13 – 18 กันยายน 2565 ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่ส่งผลกระทบกับพนังกั้นน้ำที่ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว

ในการนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

2.ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย รวมทั้งจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี

3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

ประกาศ ณ วันที่ 10 กันยายน 2565