ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ นำทีมชลประทานลงพื้นที่กรุงเทพตะวันออก ช่วย กทม. ผันน้ำ ลงแม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นำคณะ ประกอบด้วยนายณฐกร สุวรรณธาดา ว่าที่ร้อยตรีธนิตศักดิ์ ดารามั่น นางสาวณัฐิดา เตาเฟ็ส และนายสุรชาติ มาลาศรี ผอ.สำนักบริหารโครงการ นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายยงยส เนียมทรัพย์ รองผอ.ชป.ที่11 นายธีรภัทร สามไพบูลย์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต นายสมเดช ศรีวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตรและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิตสำนักงานชลประทานที่ 11 ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดฉะเชิงเทรา

S 11247674
ตรวจสถานการณ์น้ำ

โดยคณะได้ตรวจตราการทำงานของสถานีสูบน้ำหนองจอกซึ่งมีเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 20 เครื่องแต่ละเครื่องสามารถสูบน้ำได้ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีกำลังเดินเครื่องสูบน้ำจากคลองแสนแสบลงคลองบางขนากและคลองนครเนื่องเขตสู่แม่น้ำบางปะกงระยะทาง28กิโลเมตรเช่นเดียวกับสถานีสูบน้ำประเวศน์บุรีรมย์ที่กำลังสูบน้ำในคลองประเวศน์บุรีรมย์ไปลงแม่น้ำบางปะกงทางตะวันออกและไปลงคลองพระองค์ไชยานุชิตสู่อ่าวไทยอีกทางหนึ่งโดยต้องบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในระดับไม่ล้นตลิ่งเนื่องจากมีชุมชนบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรอยู่ตลอดแนวคลอง

ทั้งนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ได้ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยและได้ย้ำถึงนโยบายที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรโดยเฉพาะกรมชลประทานช่วยเหลือกรุงเทพมหานครให้เต็มที่กำลังความสามารถพร้อมกับกำชับให้ดูแลช่วยเหลือประชาชน 2 ฝั่งคลองรวมทั้งเรือกสวนไร่นา บ่อปลาบ่อกุ้งและฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพ สมุทรปราการและฉะเชิงเทราให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากน้ำท่วมในครั้งนี้

กรมชลประทาน ชี้แจงอ่างฯ 9 แห่ง เมืองโคราช น้ำเต็มอ่างฯ แต่ไม่กระทบพื้นที่ด้านท้าย

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีข่าวมีการแจ้งเตือน อ่างเก็บน้ำเกินความจุ 9 แห่ง พ่อเมืองโคราชเตือนประชาชนรับมือน้ำท่วมฉับพลัน นั้น

นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตามที่ปรากฏในข่าว ณ วันที่ 13 กันยายน 2565 มีดังนี้

อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง อำเภอเมืองนครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6.84 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 105 % ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯวันละ 0.263 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายวันละ 0.088 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้น แต่ไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อำเภอปักธงชัย มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 5.58 ล้าน ลบ.ม. เต็มความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯวันละ 0.054 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายวันละ 0.106 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้น ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านอ่างฯ

อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อำเภอบัวใหญ่ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 0.68 ล้าน ลบ.ม. เต็มความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯวันละ 0.065 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการระบายวันละ 0.062 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้น ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

อ่างเก็บน้ำห้วยยางพะไล อำเภอแก้งสนามนาง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 14.28 ล้าน ลบ.ม. หรือ 107% ของความจุอ่างฯ มีการระบายวันละ 0.134 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

อ่างเก็บน้ำห้วยบง อำเภอชุมพวง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 14.83 ล้าน ลบ.ม. เต็มความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯวันละ 0.843 ล้าน ลบ.ม. ระบายวันละ 0.914 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้น ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่าง ฯ

อ่างเก็บน้ำห้วยสะกาด อำเภอพิมาย มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 3.73 ล้าน ลบ.ม. หรือ 104 % ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันละ 0.376 ล้าน ลบ.ม. ระบายวันละ 0.394 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้น ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

อ่างเก็บน้ำลำฉมวก อำเภอห้วยแถลง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 27.84 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 118 % ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯวันละ 2.229 ล้าน ลบ.ม. ระบายวันละ 1.735 ล้านลบ.ม. น้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้น ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อำเภอวังน้ำเขียว ปริมาณน้ำในอ่างฯ 7.55 ล้าน เต็มความจุอ่างฯ ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างวันละ 0.280 ล้าน ลบ.ม.ระบายวันละ0.277 ล้าน ลบ.ม.น้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้นไม่ส่งผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อำเภอวังน้ำเขียว ปริมาณน้ำในอ่างฯ 6.54 ล้าน เต็มความจุอ่างฯ ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างวันละ 0.541 ล้าน ลบ.ม.ระบายวันละ 0.661 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่ไหลล้นออกจากทางระบายน้ำล้น ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯ

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ และปฏิบัติตาม 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 2565 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) อย่างเคร่งครัด ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้ง เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไว้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที