บอร์ดใหญ่กองทุนฟื้นฟูฯ ไฟเขียวแก้หนี้เกษตรกร กรอบงบประมาณปี 66 วงเงินกว่า 962 ลบ. ใช้ซื้อหนี้ 92 ลบ.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรรโดยที่ประชุมได้มีวาระที่สำคัญอนุมัติกรอบและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 962,411,932.00 บาท ประกอบด้วย งบเพื่อจัดการหนี้ของเกษตรกร 92,465,104 บาท งบเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 40,000,000 บาท และงบบริหารสำนักงาน 687,230,230 บาท

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ดำเนินการจัดการหนี้ได้ตามอำนาจหน้าที่ จำนวน 5,609 ราย 17,650 บัญชี มูลหนี้รวม 4,091,054,397.72 บาท

S 81387582
ไฟเขียวแก้หนี้เกษตรกร

และเห็นชอบรายชื่อและอนุมัติซื้อทรัพย์ NPA คืนให้แก่เกษตรกร เพิ่มเติม ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 55 จำนวน 35 ราย 35 บัญชี ยอดเงินรวม 73,980,930.87 บาท

นอกจากนี้ยังอนุมัติให้นิติบุคคลเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อให้ กฟก.สามารถจัดการหนี้ให้เกษตรกรได้ จำนวน 2 สถาบันการเงิน ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด และ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเห็นชอบระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล และสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน กฟก. 2 เรื่อง ได้แก่ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการ กฟก. ว่าด้วยการเบิกค่าเช่าบ้านของพนักงาน กฟก. พ.ศ. … และ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการ กฟก. ว่าด้วยการขนย้ายสิ่งของส่วนตัวในการเดินทางปฏิบัติงานประจำในราชอาณาจักร พ.ศ. …

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ในฐานะประธานกรรมการ กฟก. ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการที่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้รับการจัดการหนี้และฟื้นฟูอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ผลงานของ กฟก. เกิดเป็นรูปธรรมทุกด้าน ขอให้เจ้าหน้าที่ของ กฟก.ทุกท่านทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เน้นความโปร่งใส และเป็นธรรม ในฐานะประธานบอร์ดพร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันภารกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน พบว่า ร้อยละ 90 ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ โดยเกษตรกรร้อยละ 72 เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (หรือ ธกส.) ร้อยละ 63 เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน ร้อยละ 25 เป็นหนี้เช่าซื้อ (เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์) และร้อยละ 17 เป็นหนี้สหกรณ์ และประมาณร้อยละ 20 เป็นหนี้นอกระบบ

นอกจากนี้ หนี้สินของเกษตรกรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2558 ขนาดหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกรไทยโดยเฉลี่ยเท่ากับ 117,346 บาท/ครัวเรือน ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 221,490 บาท/ครัวเรือน ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 269,159 บาท/ครัวเรือน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นถึง 2.3 เท่าในเวลา 8 ปี หรือเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 11 ต่อปี