อนุกรรมการยกร่างฯไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.สภาการประมงหลังปรับปรุงใหม่ พร้อมเสนอ รมต.เกษตรฯ ชง ครม.

วันที่ 3 ต.ค.65 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติสภาการประมง พ.ศ….และร่างพระราชบัญญัติกองทุนประมง พ.ศ…. ครั้งที่ 3/ 2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ และจัดประชุม ณ ห้องประชุมกุลาดำ อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง

08BF8D87 A695 4900 8975 2463D49AFB96
อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยมี ผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ ผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าไทย ผู้แทนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ผู้แทนสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ผู้แทนสมาคมอวนล้อมจับแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมการประมงทะเลไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ผู้แทนสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ผู้แทนสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย ผู้แทนกรมบัญชีกลาง โดยมีนางสาวสัมพันธ์ ปานจรัตน์ ผอ. กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง เป็นเลขานุการการประชุม

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวหลังปรับปรุงใหม่ตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการวมทั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทั้งนี้ กรมประมงจะนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สภาการประมงแห่งประเทศไทย ต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับการประมงเช่นกัน คือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สนง.สผ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ที่เสนอโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะ โดยเปิดรับฟังตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 65 เป็นต้นไป

ทั้งนี้สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นเนื่องจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีการใช้บังคับอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่อาจนำไปสู่การถูกขึ้นบัญชีหรือใบเหลืองของสหภาพยุโรป (อียู) หรืออาจจะถูกปรับขึ้นเป็นใบแดงจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและตอบสนองให้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่พยายามแก้ไขปัญหา ขณะที่บทบัญญัติบางประการของร่างกฎหมายดังกล่าวยังขัดต่อหลักการของอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก หลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งการเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาคและบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เท่าเทียมกัน

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ คือ แก้ไขเพิ่มเติมเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมกิจการประมง รวมถึง การจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและรองรับการจัดระเบียบการประมงทะเลในน่านน้ำอื่นภายใต้กติการะหว่างประเทศทั้งในฐานะของรัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่า และรัฐเจ้าของตลาด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจตนา