ฝนหลวงฯร่วมประชุมแผนโครงการด้านอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน และรายงานความก้าวหน้าการจัดตั้งศูนย์ฯ

ฝนหลวงฯร่วมประชุมแผนการดำเนินโครงการด้านอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน และรายงานความก้าวหน้าการจัดตั้งศูนย์ดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน(ASEAN Weather Modification Centre: AWMC)

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4-5 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการอาเซียนด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ (ASEAN Sub-Committee on Meteorology and Geophysics, ASEAN SCMG) ครั้งที่ 43 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อร่วมวางแผนการดำเนินโครงการด้านอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน และรายงานความก้าวหน้าการจัดตั้งศูนย์ดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน (ASEAN Weather Modification Centre: AWMC) 

ซึ่งคณะอนุกรรมการอาเซียนด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ หรือ ASEAN SCMG) เป็นคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee on Science, Technology and Innovation – COSTI) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างสมาชิกอาเซียน โดยมีการจัดประชุม ASEAN SCMG เป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามและหารือเกี่ยวกับการดำเนินงาน รวมทั้งการรายงานผลการดำเนินงานด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ตลอดจนด้านการดัดแปรสภาพอากาศ

นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการอาเซียนด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม 2562 ณสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานหลัก (Focal Point) ในการจัดตั้งศูนย์ดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศ และสนับสนุนกิจกรรมการดัดแปรสภาพอากาศของประเทศที่มีความร่วมมือภายใต้กรอบกฎหมายของแต่ละประเทศ 

ซึ่งในการดำเนินการจัดศูนย์ดัดแปรสภาพอากาศอาเซียนดังกล่าว ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานหลัก ได้จัดทำร่างข้อเสนอโครงการ Concept Proposal และร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference) เพื่อให้มีเนื้อหาที่ชัดเจน และครอบคลุมบทบาทหน้าที่ของประเทศสมาชิกภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน โดยมีตัวแทนจากประเทศที่มีการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เข้าร่วมพิจารณาร่าง TOR แล้วจึงแจ้งเวียนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาให้ข้อคิดเห็น และแก้ไขจนได้ร่างฉบับสุดท้ายที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นชอบร่วมกัน 

C0F973E2 EB48 40D5 A341 26CB2CEFCCAE

ทั้งนี้ ผลการประชุม SCMG ครั้งที่ 4 ประเทศไทย โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รายงานความก้าวหน้าการจัดทำร่าง TOR และขอความเห็นชอบจากที่ประชุม SCMG ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว และจะจัดส่ง TOR ให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat: ASEC) ตรวจสอบ ก่อนจะเสนอต่อคณะกรรมการอาเซียนด้าoวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิจารณาให้ความเห็นชอบในลำดับต่อไป

9385CC24 0046 48C7 9B3C 3C3BAE93CA90

สำหรับภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงปลายฤดูฝนนี้ แม้ว่าทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงไปแล้วจากสถานการณ์น้ำและสภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่องแต่ทางเจ้าหน้าที่ยังคงติดตามสถานการณ์น้ำ สภาพอากาศ และเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสม ในการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรบางส่วนที่มีความต้องการน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ในการป้องกันไฟป่า และบรรเทาปัญหาหมอกควัน สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง โดยการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 2 ชุดปฏิบัติการ ณ สนามบินนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปอีกด้วย นายสุพิศกล่าวทิ้งท้าย