ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรฯ นราพัฒน์ เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ Innovation for Resilient Agriculture

ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรฯ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ Innovation for Resilient Agriculture มุ่งใช้นวัตกรรมทางการเกษตรเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนทั่วโลกผ่านความร่วมมือด้านการวิจัยและการแบ่งปันข้อมูล

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ Innovation for Resilient Agriculture ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี นาพรหม คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนักวิชาการ นักวิจัย ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมการประชุม

312354063 542997694498477 2327525119635965063 n
ประชุมวิชาการนานาชาติ Innovation for Resilient Agriculture

การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและความสามารถในการคาดการณ์ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง น้ำท่วม สูญเสียสมดุลทางนิเวศวิทยาและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ทำให้การผลิตอาหารและการอนุรักษ์ป่าไม้ทำได้ยากขึ้น และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการขนส่งและการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตร ผู้คนและแรงงาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความอดอยากและความยากจนทั่วประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพานวัตกรรมทางการเกษตรสามารถบรรเทาผลกระทบด้านลบของความท้าทายเหล่านี้ได้ การลดแรงงาน การอำนวยความสะดวกในการซื้อขาย และการแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์สามารถลดความเสี่ยงของการระบาดใหญ่ได้ ในขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการแจกจ่ายอาหารจะทำให้ผู้คนเข้าถึงอาหารได้มากขึ้น

ทั้งนี้ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมด้านการเกษตร วิสัยทัศน์ เกษตรกรรมอัจฉริยะเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น มุ่งใช้นวัตกรรมทางการเกษตรเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนทั่วโลกผ่านความร่วมมือด้านการวิจัยและการแบ่งปันข้อมูล ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และอภิปรายความเป็นไปได้สู่อนาคตที่ยืดหยุ่นผ่านข้อมูลทางการเกษตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภาคเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบฟาร์มอัตโนมัติและการจัดเก็บข้อมูลแบบดิจิทัล การเกษตรยุคใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหาภายในฟาร์มมากขึ้นเพื่อเพิ่มทรัพยากร ในขณะเดียวกันก็สามารถลดการสูญเสียพืชผลจากการผลิตแบบดั้งเดิม การทำฟาร์มอัจฉริยะเป็นแนวคิดที่ประกอบไปด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลาย เช่น Internet of Things (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์และโดรน เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าว เอื้อให้กระบวนการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตมีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ข้อมูลเป็นหลัก

นอกจากนี้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงคุณภาพและปริมาณโดยรวมของพืชผลและปศุสัตว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั่นก็คือ ระบบการเกษตรแบบยั่งยืน รังสรรค์ประโยชน์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคตลอดจนทุกหน่วยย่อยในห่วงโซ่อุปทานการเกษตร

เมื่อย้อนกลับมามองแนวโน้มด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรจากสตาร์ทอัพไทยที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้น เห็นได้จากกลุ่มการใช้ระบบ IoT(ประกอบด้วยเซนเซอร์ตั้งแต่หนึ่งตัวขึ้นไปที่รวบรวมข้อมูลและให้ข้อมูลที่ถูกต้องผ่านแอปพลิเคชันมือถือหรือวิธีการอื่นๆ ในแบบเรียลไทม์) และ โดรน ที่เริ่มนำมาใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มมีการกระจายตัวมากขึ้น แต่ยังมีช่องว่างอันเนื่องมาจากการที่เกษตรกรไม่เข้าใจและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้โดยง่าย ระบบโครงสร้างพื้นฐานควรจะต้องพัฒนาให้รองรับการใช้งานให้เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มี่ความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกษตรจึงควรมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ลดการทำเกษตรแบบพึ่งพาดินฟ้าอากาศ เพิ่มการจัดการเกษตรแบบอัจฉริยะเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำฟาร์มที่ง่าย แม่นยำ และรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพลิกโฉมภาคส่วนการเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรแนวใหม่ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป