จุรินทร์ ถก ส.ว.คาซัคสถาน มอบ 3 สมาคมปุ๋ยไทยเจรจาเป็นแหล่งนำเข้าปุ๋ยแทนรัสเซีย-เบลารุส

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 ที่ห้องรับรอง กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพบปะหารือกับนายมูซาบาเยฟ ทัลกัต อมันเกลดีวิช สมาชิกวุฒิสภาคาซัคสถาน อดีตรัฐมนตรีอวกาศ ซึ่งเคยเป็นนักบินอวกาศคนแรกของคาซัคสถาน ที่นำคณะมาเยี่ยมคารวะที่กระทรวงพาณิชย์ พร้อมหารือความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับคาซัคสถาน โดยนายจุรินทร์ขอให้สมาชิกวุฒิสภาทัลกัต ช่วยประสานความร่วมมือระหว่างไทยกับคาซัคสถานใน 3 ประเด็นหลัก คือ

S 122085416
ถกคาซัคสถานหารือเรื่องปุ๋ย

1.การทำ FTA ระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย 5 ประเทศ โดยมีคาซัคสถานเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งท่านวุฒิสมาชิกรับจะนำไปแจ้งให้รัฐบาลของคาซัคสถานช่วยเร่งดำเนินการต่อ

2.การส่งเสริมกิจกรรมทางการค้าระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อเพิ่มยอดมูลค่าการส่งออกให้กับสินค้าไทย

3.การหารือเรื่องปุ๋ย ซึ่งคาซัคสถานเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายสำคัญแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากปัจจุบัน ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้มีปัญหาในการนำเข้าปุ๋ยจาก 2 แหล่งที่สำคัญ คือ รัสเซียและเบลารุส ทำให้มีอุปสรรคทั้งด้านการขนส่งและการชำระเงิน ซึ่งไทยนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซีย สูตร 15-15-15 ประมาณ 75% ของการนำเข้าทั้งหมด และยังนำเข้าฟอสฟอรัส ประมาณ 8% ในส่วนของเบลารุสนั้นไทยนำเข้าโปแตสเซียมจำนวน 27% ถือเป็นอันดับ 2 รองจากแคนาดาที่ประเทศไทยนำเข้า 37% ดังนั้น การเพิ่มโอกาสในการซื้อปุ๋ยจากคาซัคสถานก็จะเป็นแหล่งนำเข้าใหม่ของประเทศไทย เพื่อทดแทน 2 แหล่งนำเข้าเดิม

ในเรื่องการซื้อขายปุ๋ยจากคาซัคสถานนั้น นายจุรินทร์ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นตัวกลางจัดหารือระหว่างผู้ส่งออกปุ๋ยของคาซัคสถานกับผู้นำเข้าปุ๋ยของไทยจากทั้ง 3 สมาคมมาร่วมเจรจาการค้าเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงในเรื่องของการซื้อขายให้เป็นเรื่องของภาคเอกชนของทั้ง 2 ฝั่ง ได้ดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องปุ๋ยขาดแคลนและราคาปุ๋ยที่ยังคงสูงอยู่มาก อันเนื่องมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาแก๊สและน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยยังมีราคาสูงอยู่ ดังนั้น หากไทยสามารถมีแหล่งซื้อปุ๋ยในราคาถูกได้ก็จะช่วยทำให้ราคาปุ๋ยในประเทศลดลง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพบว่าราคาปุ๋ยในประเทศก็เริ่มลดลงมาบ้างแล้ว เช่น ยูเรีย ลดลงไปแล้ว 18% เมื่อเทียบกับช่วงที่สงครามรัสเซียกับยูเครน นอกจากนี้ ปุ๋ยสำหรับใส่ต้นปาล์ม (สูตร 21-0-0) ราคาลดลงมากถึงประมาณ 20-25%

สำหรับตัวเลขภาพรวมความสัมพันธ์การค้าระหว่างไทยกับคาซัคสถานได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 30 ปี และคาซัคสถานถือเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกในสหภาพ EURASIA และเป็นหนึ่งใน 9 ประเทศที่เป็นสมาชิก CIS

โดยขณะนี้การค้าระหว่างไทยกับคาซัคสถานนั้นคาซัคสถานเป็นคู่ค้าในลำดับที่ 114 ของประเทศไทยในโลกและเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มของ EAEU โดยในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับคาซัคสถานจำนวน 2,100 ล้านบาท และเฉพาะแต่เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 1,400 ล้านบาท โดย 8 เดือนแรกนี้ประเทศไทยส่งออกไปยังคาซัคสถานจำนวน 1,200 ล้านบาทและนำเข้ามา 130 ล้านบาท

สินค้าที่สำคัญที่ไทยส่งออกไปคาซัคสถาน ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยางพารา ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป เป็นต้น ส่วนที่ไทยนำเข้าจากคาซัคสถาน ประกอบด้วย สินแร่ โลหะ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลทรานซิสเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ เป็นต้น