นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ใช้โอกาสในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเปค ในการเผยแพร่อัตลักษณ์และคุณภาพของสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้คัดเลือกสินค้า GI จำนวน 8 รายการ เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมดังกล่าว เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านเมนูอาหารที่ทำจากวัตถุดิบ GI และของที่ระลึกที่ทำจากสินค้า GI
“กรมฯ ได้ยกขบวนสินค้า GI จากชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทย ร่วมต้อนรับสุดยอดผู้นำในการประชุมเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นซอฟต์ พาวเวอร์สำคัญที่ช่วยถ่ายทอดอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่ระดับนานาชาติ และมั่นใจว่าจะช่วยส่งเสริมสินค้า GI ไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างโอกาสทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ และสร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น”นายวุฒิไกรกล่าว
สำหรับเมนูอาหารที่อาศัยวัตถุดิบ GI ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ของจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และมหาสารคาม เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไวน์เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ส้มโอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ไข่เค็มไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และว่าที่สินค้า GI กล้วยหอมทองพบพระ จังหวัดตาก และผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่นำมาทอเป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำเอเปค เช่น เนคไท ผ้าคลุมไหล่
ทั้งนี้ สินค้า GI ทั้ง 8 รายการดังกล่าว ล้วนเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยที่ผ่านมา สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นรวมกว่า 820 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกรมฯ และหน่วยงานพันธมิตร จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมสินค้า GI โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าไทยได้รับการคุ้มครองในตลาดการค้าที่สำคัญ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับการประชุมเอเปค 2022 เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในประเทศไทย ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2565 โดยการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ไทยเคยเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2535 และ 2546
แนวคิดหลักของการประชุมครั้งนี้คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยรัฐบาลไทยได้เลือกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดการประชุมหลัก ทั้งนี้ มีผู้นำและผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 แห่ง เข้าร่วมประชุมครบ โดยเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีของเอเปค หลังจากการประชุมที่ชิลีในปี 2019 ถูกยกเลิกเนื่องจากความไม่สงบภายในประเทศ ต่อเนื่องด้วยวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลให้การประชุมเอเปคที่มาเลเซียและนิวซีแลนด์ในปีถัดมานั้น ต้องจัดผ่านทางออนไลน์
ทั้งนี้ประเทศไทยได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี เป็นหัวข้อหลักในการประชุมและจัดทำข้อเสนอไปยังผู้นำเขตเศรษฐกิจ
ในขณะที่ กลุ่มต่อต้านการประชุมได้วิพากษ์โมเดลบีซีจีว่า เอื้อผลประโยชน์ต่อนายทุนใหญ่มากกว่าประชาชน อีกทั้งใช้โอกาสนี้ในการประท้วงขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต่อต้านนโยบายของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในแขกของรัฐบาลไทยช่วงการประชุมนี้ด้วย