เมื่อสินค้าเกษตรเวียดนามผ่านฉลุย”ด่านโหย่วอี้กวาน’ ของกว่างซี

เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านโหย่วอี้กวาน เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่บังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2565 เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมกระชับความร่วมมือทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างชาติสมาชิกให้มีความเน้นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

2016 12 15 1
ด่านโหย่วอี้กวาน

ตามข้อมูลพบว่า ประเทศจีนอนุญาตให้ผลไม้มากกว่า 30 ชนิดจาก 9 ชาติสมาชิกอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) สามารถส่งออกเข้าประเทศจีนได้ โดย ‘เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง’ เป็นหนึ่งในช่องทางหลักในการส่งออกผลไม้จากอาเซียนเข้าประเทศจีน โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่มีพรมแดนติดกับประเทศจีน (เขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลยูนนาน) ความได้เปรียบด้านระยะทางการขนส่งที่สั้น สินค้าเกษตรมีต้นทุนถูก ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้นำเข้าจีน

ข้อมูลที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวานของกว่างซีพบว่าช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาสินค้าเกษตรเวียดนามที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวาน มีมูลค่ากว่า 1,230 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 48.8% (YoY) และในช่วงเทศกาลวันชาติจีน เฉพาะวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ด่านโหย่วอี้กวานมีปริมาณรถบรรทุกผ่านเข้า-ออก 1,053 คันครั้ง และด่านการค้าชายแดนผู่จ้าย 518 คันครั้ง

หนง ลี่ชิง (Nong Liqing/农丽清) บริษัท Pingxiang Guangteng Import-Export Trading Co.,Ltd. กล่าวว่า ผลไม้ที่นำเข้าจากเวียดนามมายังจีนใช้เวลาขนส่งเพียง 2-3 วัน ยกตัวอย่างทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่งอย่างมาก การเลือกนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม จะช่วยรักษาความสดใหม่และรสชาติของทุเรียนได้ดี

ตามรายงานเพื่อให้กระบวนการนำเข้าสินค้าเกษตรสดเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ศุลกากรพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับสินค้าเกษตรในการลำเลียงสินค้าเข้าด่านและจัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยประสานงานกับตัวแทนออกของ และการอำนวยความสะดวกในกระบวนการนำเข้า อาทิ การตรวจสอบเอกสารในพิธีการศุลกากรนำเข้าแบบล่วงหน้า การให้สิทธิพิเศษในการรับเอกสารและตรวจสอบสินค้าก่อน การเร่งผลตรวจสอบและกักกันโรคในห้องปฏิบัติการทดลอง เพื่อให้การตรวจปล่อยสินค้าเกษตรสดและมีชีวิตเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

“พวกเราดำเนินมาตรการผ่านพิธีการศุลกากรแบบนัดหมายล่วงหน้า 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณสินค้าและเวลาในการขนส่ง จึงสามารถตระเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ในกระบวนการตรวจสอบสินค้าได้ ช่วยให้สามารถตรวจสอบปล่อยสินค้าได้ทันทีที่สินค้ามาถึง” ซือ จงจวิน (Shi Zhongjun/施仲钧) หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมตรวจสอบที่ 5 ศุลกากรด่านโหย่วอี้กวาน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา เมืองฉงจั่ว (กำกับดูแลอำเภอระดับเมืองผิงเสียง) เป็นเมืองชายแดนจีน-เวียดนามที่มีการนำเข้าและส่งออกผลไม้อาเซียนมากที่สุดในประเทศจีน ปัจจุบัน เวียดนามมีผลไม้สดที่ได้รับอนุญาตส่งออกเข้าไปยังประเทศจีน ได้แก่ มะม่วง ลำไย กล้วยหอม ลิ้นจี่ แตงโม เงาะ ขนุน แก้วมังกร มังคุด และเสาวรส (สำหรับเสาวรส เป็นการทดลองนำเข้า โดยอนุญาตให้นำเข้าเพื่อนำไปแปรรูปในบริเวณด่านชายแดนกว่างซีเท่านั้น) รวมถึงมะนาวแช่เย็นแช่แข็ง

ในบรรดาผลไม้สดของเวียดนามที่ได้รับอนุญาต พบว่า มีผลไม้อยู่หลายชนิดที่ทับซ้อนกับประเทศไทย โดยเฉพาะ ‘ทุเรียนสด’ ซึ่งเวียดนามถือเป็นประเทศที่ 2 ในโลกที่ประเทศจีนอนุญาตให้ส่งออกไปยังจีนได้ (ไม่นับรวมมาเลเซียที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกและแกะเปลือก) โดยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ทุเรียนสดล็อตแรกของเวียดนาม น้ำหนัก 18.24 ตัน มูลค่า 512,400หยวน หรือราว 2.7 ล้านบาท ลำเลียงผ่านด่านโหย่วอี้กวานในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของกว่างซี นับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการส่งออกทุเรียนสดไปประเทศจีนเป็นผลสำเร็จ (ผลไม้ทับซ้อนกับไทยชนิดอื่นๆ ได้แก่ มังคุด กล้วยหอม ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง เงาะ ขนุน)

ในบัญชีรายชื่อผลไม้สดที่จีนอนุญาตให้นำเข้าจากต่างประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2565 พบว่า สปป.ลาว ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลไม้สดไปยังประเทศจีนเพิ่มเติมอีก 3 รายการ คือ ส้ม ส้มโอ และมะนาว จากเดิมที่มีกล้วยหอม แตงโม และเสาวรส

กล่าวได้ว่า หลายปีมานี้ ในวงการส่งออกผลไม้เมืองร้อนไปประเทศจีนมีการแข่งขันดุเดือนมากพอสมควร ประเทศไทยถือเป็น ‘ผู้เล่น’ ตัวสำคัญในตลาดผลไม้เมืองร้อนในประเทศจีน โดยมีเวียดนามเป็น ‘คู่แข่ง’ ตัวสำคัญ นอกจากนี้ กัมพูชา ถือเป็น ‘ม้ามืด’ ที่น่าจับตามองเช่นเดียวกัน แม้ว่าปัจจุบัน กัมพูชามีผลไม้สดที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศจีนเพียง 3 ชนิด คือ กล้วยหอม มะม่วง และลำไย (ลำไย เพิ่งได้รับอนุมัติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565) แต่กล้วยหอม (สิ้นไตรมาส 3/2565 อันดับ 3 รองจากฟิลิปปินส์และเวียดนาม) และมะม่วง (สิ้นไตรมาส 3/2565 อันดับ 2 รองเวียดนาม) ของกัมพูชามีส่วนแบ่งทางการตลาดในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน