ก.เกษตรฯ หารือคณะผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน แนวทางความร่วมมือภาคเกษตร ถกประเด็นฮอตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร

วันที่ 29 พ.ย. 65 นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ นายเดเนียล แพนส์ สมาชิกสภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป และประธานบริหารกลุ่ม DPO (Mr. Daniel Pans, EU-ABC Board Member and Group CEO, DPO International) และคณะนักธุรกิจ โดยมี นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

 

สำหรับการหารือในวันนี้ EU-ABC รับทราบนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับการลดผลกระทบ Climate Change ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร โดยได้มีการจัดร่างแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566-2570 เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร

อาทิ 1) ยกระดับการปรับตัวด้วยเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ 2) เพิ่มการยอมรับและปรับใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร และ 3) เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความเพียงพอ และการเข้าถึงแหล่งน้ำและระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

นอกจากนี้ ยังรับทราบการดำเนินการของไทยในการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนและการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับ IUU อาทิ เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organization : RFMOs) ได้แก่ SIOFA และ IOTC รวมถึงการขยายความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนในการต่อต้านการทำประมงไอยูยู ซึ่งประเทศไทยเป็นสำนักงานศูนย์เครือข่ายอาเซียนในการต่อต้านการทำประมงไอยูยู

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมความพร้อมสำหรับกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรป EU Deforestation Directive ร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า ครอบคลุมสินค้า 6 ชนิด ได้แก่ เนื้อวัว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม โกโก้ ไม้ และกาแฟ รวมทั้งเพิ่มประเภทสินค้า ได้แก่ เนื้อหมู แกะ แพะ สัตว์ปีก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และยาง และเชื่อมั่นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสินค้าเกษตรของไทย

 

นายนราพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนายกระดับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนให้เกษตรกรโคนมอย่างเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญกับการเลี้ยงโคนมในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มและการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องความต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์นม

 

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งภาคเอกชนของสหภาพยุโรปมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรปให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลอดจนการสนับสนุนการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย โดย EU-ABC และคณะนักธุรกิจยินดีและยืนยันที่จะร่วมมือและทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและเอกชนไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรพบว่าความแปรปรวนของภูมิอากาศจะมีผลกระทบรุนแรงต่อพืชผลการเกษตรที่สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะ ข้าว ข้าวโพด อ้อย การเลี้ยงสัตว์ และประมง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีผล กระทบต่อผลผลิตการเกษตรหลายช่องทาง เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะฝนแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอุณหภูมิตอนกลางคืนในช่วงที่ข้าวกำลังออกดอก จะกระทบกระบวนการสังเคราะห์แสงของข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ที่จริงเกษตรกรไทยคุ้นเคยกับการปรับตัวเพื่อรับมือกับน้ำท่วมตั้งแต่อดีตแล้วเห็นได้จากวิถีชีวิต เช่น การปลูกข้าวฟางลอยในพื้นที่ลุ่มต่ำแถบอยุธยา การปรับปฏิทินการปลูกข้าวเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนถึงเวลาน้ำท่วม รวมถึงการปลูกบ้านเรือนที่มีใต้ถุนสูงและเตรียมเรือติดบ้านไว้ แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้ภูมิอากาศแปรปรวนบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีความจำเป็นต้องปรับตัวมากกว่าในอดีต มิฉะนั้นผลผลิตการเกษตรจะเสียหายมากขึ้นจนกระทบการส่งออก และรายได้ของเกษตรกร

MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image
MOAC Image