เกษตรฯ-มหาดไทย-พาณิชย์- ธ.ก.ส. จับมือขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง

นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยได้รับเกียรติจาก

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายวันชัย วราวิทย์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แทนหน่วยงานร่วมลงนาม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยในปี 2566 มีเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด จำนวน 878 หมู่บ้าน วงเงิน 5 ล้านบาท มุ่งหวังที่จะบูรณาการด้านการเกษตรในระดับหมู่บ้านผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนทางการเกษตร ลดการพึ่งพาจากภาครัฐ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณพ.ศ.2566-2570 ตลอดจนปฏิรูประบบการบริหารราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีการบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงและใช้ทรัพยากรที่มีได้อย่างเต็มศักยภาพ
 

317861623 528164319356646 7619654442737660086 n
4 หน่วยงานจับมือยกระดับการเกษตรหมู่บ้าน

เริ่มดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่สามารถวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาส วางแผนการผลิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด มีตลาดรองรับที่ชัดเจน เพื่อจัดทำแผนธุรกิจเกษตรรายสินค้าในการเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน ตลอดจนเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จำเป็น การทำเกษตรที่ได้มาตรฐานเพื่อยกระดับการผลิตของตนเอง และเพื่อให้มีฐานข้อมูลกิจกรรมการทำการเกษตรที่มีความเป็นปัจจุบันทุกเวลา ใช้ประกอบการวิเคราะห์ ประมวลผล ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการ และการให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ นำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตในภาคการเกษตรในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง โดยการดำเนินการทั้งหมดนี้ มีการสร้างกลไกการบริหารงานและการมีส่วนร่วมตั้งแต่ในระดับพื้นที่และส่วนกลางในการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
 

“โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและขับเคลื่อนแผนพัฒนาหมู่บ้าน รวมทั้งจัดทำแผนงาน/โครงการด้านการเกษตรที่มีความเชื่อมโยงกับแผนชุมชน ซึ่งได้มาจากปัญหาและความต้องการของประชาชนที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรระดับหมู่บ้านให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ สินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอัจฉริยะ สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าเกษตรชีวภาพ โดยมีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านเป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนภาคการเกษตรระดับหมู่บ้านเพื่อบูรณาการการทำงานด้านการเกษตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่” รองปลัดเกษตรฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเคยมีผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2564 พบว่า หมู่บ้านส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.0 มีครัวเรือนประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลักและเมื่อพิจารณาในแต่ละภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หมู่บ้านที่มีครัวเรือนประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลักในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 93.9 รองลงมาคือ ภาคใต้ ร้อยละ 89.9 ภาคเหนือ ร้อยละ 87.5 และภาคกลางร้อยละ 65.8

นอกจากนี้หมู่บ้านส่วนใหญ่ร้อยละ 61.2 มีข้าวเป็นผลผลิตทางการเกษตรสำคัญ นอกจากนี้เป็นหมู่บ้านที่มีมันสำปะหลังและยางพาราเป็นผลผลิตทางการเกษตรสำคัญ (ร้อยละ 29.3 และ22.8ตามลำดับ)แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีข้าวเป็นผลผลิตทางการเกษตรสำคัญสูงถึงร้อยละ79.1 และ 66.8 ตามลำดับในขณะที่ภาคใต้ มียางพาราเป็นผลผลิตทางการเกษตรสำคัญสูงถึงร้อยละ 79.0