กระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง ฉบับใหม่ 23 จังหวัดชายทะเล มีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป บรรเทาความเดือดร้อน – ลดความขัดแย้ง ประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ 

นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า ตามที่กรมประมงได้ดำเนินการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง โดยยกเลิกฉบับเดิมทั้งหมด และออกกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง ฉบับใหม่เป็นรายจังหวัด จำนวน 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 

ซึ่งข้อกำหนดในกฎหมายแต่ละฉบับได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละพื้นที่และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเรียบร้อยแล้ว โดยในกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่ง  

โดยกำหนดให้ในบริเวณใด มีระยะจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยกว่าหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลและไม่เกินสิบสองไมล์ทะเล จึงมีการกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งเป็นเส้นตรงลากผ่านจุดพิกัดทำให้ชาวประมงเดินเรือได้ง่ายและพนักงานเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้ชัดเจนด้วย ในกรณีที่เป็นพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตที่กำหนดตามกฎหมายอื่นใด ให้ชาวประมงที่ทำการประมงหรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่ง ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ให้ครบถ้วนด้วย  

ซึ่งบัดนี้ กฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่งแยกเป็นรายจังหวัด ทั้ง 23 จังหวัด ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายเรียบร้อยแล้ว จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องชาวประมงเพื่อทราบโดยทั่วกัน และให้ยกเลิก กฎกระทรวงกำหนดเขตทะลชายฝั่งฉบับเก่า คือ ฉบับ พ.ศ. 2560 / พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ 2 และ 3) 

ทั้งนี้ ก่อนกฎกระทรวงฯ ทั้ง 23 ฉบับ จะมีผลใช้บังคับเขตทะเลชายฝั่งตามพระราชกำหนดการประมง2558 กำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล (ตามมาตรา 5) และเขตทะเลชายฝั่งตามกฎกระทรวงที่กำหนดให้เขตทะเลชายฝั่ง มีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยกว่าหรือมากกว่าสามไมล์ทะเล จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชลบุรี ตรัง ตราด พังงา ภูเก็ต ระนองสตูล และสุราษฎร์ธานี 

ซึ่งที่ผ่านมา ยังคงมีเขตทะเลชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งเว้า ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนของพื้นที่ทำการประมง ส่งผลให้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน เกิดความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เนื่องจากการเข้าไปทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งโดยไม่ตั้งใจ และยังขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดเขตอย่างแท้จริง 

ดังนั้น กรมประมงจึงเชื่อมั่นว่า กฎกระทรวงฉบับใหม่รายจังหวัด ทั้ง 23 ฉบับนี้ จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้ง การกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง มิใช่เพียงแค่แก้ไขความขัดแย้งของชาวประมงเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อการบริหารจัดการทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ภายใต้บริบทของวิถีการทำประมงในพื้นที่นั้นๆ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ 

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำในการแก้ไขปัญหาความไม่ชัดเจนของเขตทะเลชายฝั่ง และการบริหารจัดการการทำประมงให้เกิดความยั่งยืนควบคู่ไปกับความมั่นคงในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวประมง