เตือนภัย “ไรสี่ขามะพร้าว” ระบาด

เตือนภัยชาวสวนมะพร้าวให้ระวัง “ไรสี่ขามะพร้าว” ระบาดในช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง

“ไรสี่ขามะพร้าว” เป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กมาก รูปร่างลักษณะคล้ายหนอนสีขาวใส ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องมองผ่านกล้องที่มีกำลังขยายสูงเท่านั้น ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเป็นศัตรูพืช เพศเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 30-50 ฟอง

จากระยะไข่ – ตัวเต็มวัย ใช้ระยะเวลาประมาณ 7-8 วัน

ทั้งนี้ “ไรสี่ขามะพร้าว”จะเริ่มเข้าทำลายผลมะพร้าวตั้งแต่ผลมีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตรจนถึง 25 เซนติเมตร โดย “ไร” จะอาศัยดูดกินอยู่ใต้กลีบเลี้ยงของผลมะพร้าว ผลมะพร้าวที่ถูก “ไรสี่ขา”ทำลายจะชะงักการเจริญเติบโต หลุดร่วงและผลผลิตเสียหายได้ถึง 70% จึงต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเฝ้าระวังเนื่องจากสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทั้งคุณภาพและผลผลิตมะพร้าว

278398461 315385400740681 1680884976219748848 n
ไรสี่ขามะพร้าว

วิธีการป้องกันกำจัด “ไรสี่ขามะพร้าว” โดยให้ตัดทำลายจั่นช่อดอกและช่อผลของมะพร้าวทั้งหมดจนกว่าจะไม่พบอาการลูกลาย ซึ่งวิธีกำจัด“ไร”หลังจากตัดช่อดอกและช่อผลสามารถทำได้หลายวิธี คือ การนำไปฝังกลบโดยให้มีหน้าดินลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ถ่วงน้ำโดยต้องกดให้จมน้ำทั้งหมด ใส่ถุงพลาสติกดำตากแดดไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์

และเผาทำลายจั่นช่อดอกและช่อผลทั้งหมด หลังตัดจั่นช่อดอกและช่อผลให้พ่นสารฆ่าไรอย่างน้อย 4 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ทุกครั้ง จนกว่าจะไม่พบอาการเข้าทำลาย หากยังพบอาการลูกลายให้เปลี่ยนชนิดสารฆ่าไรตามกลุ่มสารออกฤทธิ์ โดยสารป้องกันกำจัดไรสี่ขามะพร้าว ตามคำแนะนำ มีดังนี้ โพรพาร์ไกต์ 30% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อะมิทราซ 20% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร กำมะถันผง 80% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

“ไรสี่ขามะพร้าว”ไม่สามารถพ่นยาฆ่า“ไร”อย่างเดียวแล้วจะกำจัด“ไร”ได้อย่างสิ้นซาก เนื่องจากยาฆ่าไรเป็นยาประเภทถูกตัวตายเท่านั้น โดยไรจะเข้าทำลายอยู่ภายในขั้วผลมะพร้าว ทำให้การฉีดยาไม่สามารถโดนตัวไรได้ ดังนั้นจึงต้องตัดทำลายจั่นช่อดอกและช่อผลของมะพร้าวทั้งหมด

รวมทั้ง “ไรสี่ขา” ยังแพร่กระจายโดยอาศัยลมพัดพาจึงควรปลูกไม้กันลม เพื่อป้องกันไม่ให้“ไรสี่ขา”แพร่กระจายเข้ามาภายในสวนอีก

ที่มา กรมวิชาการเกษตร