CPF ชูผลสำเร็จ “โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร” ลดขยะ-ลดก๊าซเรือนกระจก

CPF ขับเคลื่อนโครงการความยั่งยืนสู่ชุมชน สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม ชูโมเดลความสำเร็จโครงการ “ปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร จ.ชัยภูมิ” เป็นต้นแบบของโครงการที่เกิดประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ลดขยะสู่การฝังกลบและลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

322477763 500875988777131 5431709617298686481 n
ผลสำเร็จ “โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร”

นายจำรัส เพ็ชรตะคุ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ CPF เปิดเผยว่า CPF มุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมส่งเสริมให้พนักงานคิดสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นโครงการที่สามารถประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Impact Assessment – SIA) อาทิ โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร จ.ชัยภูมิ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิด “เปลี่ยนเศษเหลือในกระบวนการผลิตเป็นปุ๋ยด้วยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตเกษตรกรรมให้เกษตรกร” สอดรับกับเป้าหมาย CPF 2030 Sustainability in Action ของ CPF ที่มีเป้าหมายลดปริมาณของเสียสู่การฝังกลบและเผา (Zero Waste to Landfill) ให้เป็นศูนย์ และเป็นไปตามเป้าหมาย SDGs

322401265 6399504676745298 1100550895368567189 n
ผลสำเร็จ “โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร”

โครงการปุ๋ยเปลือกไข่ฯ ได้รับการประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA) ปี 2565 รับรองข้อมูลโดย LRQA ซึ่งเป็นผู้ให้บริการชั้นนำด้านการตรวจรับรองที่ได้รับความเชื่อถือ รับรองผลของโครงการฯ โดยนำเปลือกไข่และมูลไก่ไปทำปุ๋ยหมักสามารถลดขยะสู่บ่อฝังกลบ 370 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมีเกษตรกรรอบสถานประกอบการได้ประโยชน์ 60 ราย ตลอดจนสร้างมูลค่าต่อบริษัทและสังคมกว่า 325,000 บาท

322381327 676020227651353 4990816068429667121 n
ผลสำเร็จ “โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร”

โครงการ “ปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร จ.ชัยภูมิ” เป็นการศึกษาจนเกิดองค์ความรู้ของบุคลากร ทำให้ได้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ เพื่อนำไปผสมกับมูลไก่จากฟาร์มต่างๆ ในธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์ และเปลือกไข่จากโรงฟักภายในธุรกิจไก่ไข่มาทำเป็นปุ๋ยหมัก โดยใช้พื้นที่โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จ.ชัยภูมิ เพื่อแจกจ่ายให้กับชุมชน เกษตรกร และหน่วยงานราชการ อาทิ สถานีพัฒนาที่ดิน จ.ชัยภูมิ นำไปใช้ประโยชน์มากกว่า 150 ตันต่อปี บนพื้นที่กว่า 400 ไร่

และจากการวิเคราะห์ทางเคมีโดยคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น พบว่า ปุ๋ยมีธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง เป็นธาตุอาหารที่ทำให้พืชผักโตเร็ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น 20% ในส่วนของ CPF สามารถลดของเสียที่ต้องฝังกลบเปลือกไข่ โดยนำเปลือกไข่ที่เหลือจากกระบวนการผลิตที่ต้องทำลายด้วยวิธีฝังกลบหรือเผากลับมาทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ ในปี 2566 มีแผนขยายโครงการสู่ชุมชนรอบข้าง คือ กลุ่มผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์บ้านไทรงาม ต.นาเสียว อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ทั้งเรื่องการได้รับปุ๋ยสำหรับพืชผักต่างๆ และการบูรณาการเรียนรู้ร่วมกัน คาดว่าจะมีเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 30 ราย ตลอดจนเปิดให้หน่วยงานราชการและผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้ ร่วมขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ BCG model ของจังหวัดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร” เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมและชุมชนที่ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินการอย่าง ต่อเนื่อง สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ด้วยการประยุกต์ใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นำไปความเป็นนวัตกรรมเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่สร้างประโยชน์ได้จริง มีความเป็นไปได้ของโครงการเกิดคุณค่า ด้วยการเพิ่มมูลค่าจากเดิม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและดูแลสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับปฏิบัติการขับเคลื่อนความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)