สนค.ชี้จีนผ่อน Zero-COVID เปิดประเทศ หนุนส่งออกสินค้าไทยพุ่งแน่

สนค. วิเคราะห์จีนผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID และเปิดประเทศตั้งแต่ 8 ม.ค.66 พบเป็นสัญญาณดีต่อภาคการส่งออกของไทย เผยผลไม้ อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าแฟชัน สินค้าทางการแพทย์และการป้องกันรักษาโรค จะขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ยังต้องจับตา หากโควิด-19 ระบาดหนัก จีนกลับมาล็อกดาวน์ สินค้าส่งออก ทั้งทุเรียน มัน ไม้ยาง เคมีภัณฑ์ อาจได้รับผลกระทบ เหตุพึ่งพาตลาดจีนมาก แนะกระจายความเสี่ยงไปตลาดอื่น
         

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์การผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID และการเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 พบว่า มีสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน และตลาดจีนจะกลับมาเป็นบวกได้เพิ่มขึ้น จากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในจีนที่กลับมาดำเนินการใกล้เข้าสู่ระดับปกติ และด้วยประชากรจีนที่มีจำนวนมาก เมื่อการบริโภคและการผลิตฟื้นตัว จะผลักดันการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่อั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทำให้จีนนำเข้าสินค้าจากไทยในราคาถูก จึงส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยที่จะขยายตัวได้ดีขึ้น
         

63bd01f14db68
สนค.ชี้จีนผ่อน Zero-COVID เปิดประเทศ หนุนส่งออกสินค้าไทยพุ่ง

ทั้งนี้ สินค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดี เช่น ผลไม้ จะผ่านด่านทางบกได้อย่างสะดวกขึ้น และปัจจุบันจีนมีความพร้อมในการตรวจสอบ กักกันผลไม้นำเข้า ของด่านรถไฟโม่ฮาน ที่จะช่วยให้ต้นทุนผู้ส่งออกต่ำลง รวมทั้งสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าแฟชันที่เติบโตตามการเปิดเมืองก็จะกลับมา ในขณะที่สินค้าเกี่ยวกับการแพทย์และสินค้าสำหรับป้องกันรักษาโรค ก็จะได้อานิสงส์จากการติดเชื้อโควิด-9 ที่จะเพิ่มขึ้นในจีนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตา หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจีนอาจจะกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เช่น ทุเรียน มันสำปะหลัง ไม้ยางพารา และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากพึ่งพาตลาดจีนเป็นอย่างมาก โดยมีส่วนแบ่งในตลาดจีนมากกว่า 90% ดังนั้น ในระยะกลาง ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก อาจจะได้รับผลกระทบ หากจีนเลือกนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากคู่แข่ง หรือผลิตเองทดแทนตามนโยบายพึ่งพาตนเอง ที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564–2568) จึงควรวางแผนกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดศักยภาพอื่น ๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตลอดจนการวางแผนทางการเงินที่รัดกุม เพื่อรับมือความเสี่ยงของตลาดจีนที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่
         

ในปี 2565 เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยมีปัจจัยหลักมาจากการดำเนินนโยบาย Zero-COVID สวนทางประเทศอื่นที่ใช้มาตรการผ่อนคลาย มีการคุมเข้มการตรวจสอบการปนเปื้อนในสินค้าและคนที่ผ่านเข้าจีน ส่งผลให้การผลิต การค้าชะงักงัน มีนโยบายพึ่งพาตนเอง ทำให้ลดการนำเข้า แต่ยังค้าขายกับต่างประเทศอยู่ มีปัญหาขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ กระทบต่อภาคการก่อสร้าง มีปัญหาความตรึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี แต่การปรับลดมาตรการคุมโควิด-19 และการเปิดประเทศ ทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมา ส่งผลให้การบริโภค การท่องเที่ยว การลงทุนฟื้นตัว โดยยังต้องจับตา หากมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาก ระบบสาธารณสุขของจีนรับไม่ไหวจนต้องกลับไปล็อกดาวน์ ก็จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวสูงขึ้น กดดันให้จีนใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น จะกระทบต่อหนี้สินภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคครัวเรือน
         

ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดหลักที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 มีสัดส่วน 12% ของการส่งออกรวม รองจากสหรัฐฯ โดยเป็นตลาดส่งออกหลักของผลไม้ และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าขั้นกลาง เช่น ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 สัดส่วน 23.3% ของการนำเข้ารวม โดยส่วนใหญ่ไทยนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล ซึ่งในช่วง 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) มูลค่าการค้าไทยกับจีน ขยายตัวเพียง 3.1% โดยการส่งออก ลด 6.5% เป็นการหดตัวในรอบ 3 ปี แต่การนำเข้า เพิ่ม 8.6% สินค้าส่งออกที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นต้น