คณะประมง มก.ชวนประกวด “ปลากัด” 3 ประเภท ชิงถ้วยพระราชทาน เงินรางวัลรวม 270,000 บาท ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2566

คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโครงการการประกวดและแข่งขันทางการประมง ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 2-7 กุมภาพันธ์ 2566

36309a1417765dc52af996d13bedf078cdaa56e3fbb737d35f72123ef0f47c30
ปลากัดไทย
SIAMESE FIGHTING FISH2
ปลากัดไทย

ในส่วนของการประกวดปลากัด ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยแบ่งประเภทปลากัดที่เข้าประกวด จำนวน 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทครีบสั้น ได้แก่ 

1.ปลากัดครีบสั้น สีเดียว กลุ่มสีอ่อน

2.ปลากัดครีบสั้น สีเดียว กลุ่มสีเข้ม

3.ปลากัดครีบสั้น กลุ่มหลากสี

4.ปลากัดครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง สีเดียว กลุ่มสีอ่อน

5.ปลากัดครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง สีเดียว กลุ่มสีเข้ม

6.ปลากัดครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง อัญมณี นีโม โค่ย (จุดน้อยกว่า 20%)

7.ปลากัดครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง ลายจุด กาแล็คซี่ สตาร์

8.ปลากัดครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง กลุ่มแพทเทิร์น

9.ปลากัดครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง กลุ่มหลากสี

10.ปลากัดครีบสั้น หางเดี่ยว หางมงกุฎ รวมทุกประเภทสี

11.ปลากัดครีบสั้น หางคู่ รวมทุกประเภทสี

12.ปลากัดยักษ์ครีบสั้น Junior รวมทุกประเภทหางและสี

13.ปลากัดยักษ์ครีบสั้น Senior รวมทุกประเภทหางและสี

14.ปลากัดครีบสั้น เพศเมีย รวมทุกประเภท

ประเภทครีบยาว ได้แก่

1.ปลากัดครีบยาว หางเดี่ยว รวมทุกประเภทสี

2.ปลากัดครีบยาว หางมงกุฎ รวมทุกประเภทสี

3.ปลากัดครีบยาว หางพระจันทร์ครึ่งดวง รวมทุกประเภทสี

4.ปลากัดครีบยาว หางคู่ รวมทุกประเภทสี

5.ปลากัดครีบยาว ดาวรุ่ง รวมทุกประเภทสี

6.ปลากัดครีบยาว เพศเมีย รวมทุกประเภท

ประเภทพิเศษ ได้แก่

1.ปลากัดดาวรุ่ง รวมทุกประเภทสี

2.ปลากัดเขียวเกษตร รวมทุกประเภท ครีบและหาง

3.ปลากัดสีแสด วลัยลักษณ์

4.ปลากัดสีฟ้าประมง (Blue Fisheries) รวมทุกประเภท ครีบและหาง

5.ปลากัดหูช้าง รวมทุกประเภท ครีบ หาง และสี

6.ปลากัดสีธงชาติไทย รวมทุกประเภท ครีบและหาง

ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.fish.ku.ac.th หรือสอบถาม ติดต่อ คุณสุพัตรา พันธ์ไม้สี และคุณดวงกมล หวังแก้ว โทร. 02 942 8894, 02 942 8364

SIAMESE FIGHTING FISH3
ปลากัดไทย
327058281 866552584577952 894944610034986318 n
326932389 742315164231530 5981379401028604471 n

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่มักพบกระจายอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางและบางส่วนของภาคเหนือของประเทศ ปลากัดโดยทั่วไปมีรูปร่างเพรียวยาวและแบนข้าง หัวขนาดเล็ก ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม ใช้ปากฮุบอากาศในการหายใจโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบอกคู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส ปลาตัวผู้มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่ปลาตัวเมียสีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด

แต่เดิมปลากัดที่พบในประเทศไทยมีอยู่เพียง 3 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ปลากัดไทย (Betta splendens) เนื่องจากมีครีบและสีสันที่สวยงาม ส่วนอีก 2 สายพันธุ์คือ ปลากัดอีสาน (Betta smaragdina) และปลากัดภาคใต้ (Betta imbellis) เป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงไว้เพื่อกัดกัน จึงไม่ได้รับความนิยม แต่ในระยะหลังได้มีการนำปลากัดมาผสมข้ามพันธุ์ ทำให้เกิดปลากัดที่มีลักษณะเฉพาะขึ้น ตัวอย่างเช่น ปลากัดหางสามเหลี่ยม (Delta-tailed) ปลากัดหางมงกฎ (Crown-tailed) ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งดวง (Half-moon-tailed) และปลากัดสองหาง (Double-tailed) นอกจากนี้การผสมข้ามพันธุ์ยังทำให้เกิดการพัฒนาสีของปลากัดที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ปลากัดสีเดียวที่มีทั้งสีขาว สีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว สีม่วง สีเหลือง สีส้ม สีทอง หรือปลากัดสีผสม เช่น เจ้าไตรรงค์ ปลากัดลายธงชาติไทยที่ชนะการประกวดระดับโลก และมีมูลค่ากว่าตัวละห้าแสนบาท

อย่างไรก็ตามการเลี้ยงปลากัดต้องมีความชอบก่อน เพราะการเลี้ยงปลากัดไม่ใช่งานที่ง่าย ต้องอาศัยความอดทน ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายพันธุ์ การผสมพันธุ์ การเพาะเลี้ยง โรคปลา หรือแม้แต่เรื่องการตลาด ที่สำคัญเลยคือ ต้องมองกระแสตลาดให้ออกว่าปลากัดแบบไหนกำลังได้รับความนิยม โดยอาจไปศึกษาตามตลาดนัดปลาสวยงาม เช่น สวนจตุจักร หรือตลาดต่างประเทศจากเว็บไซด์ต่าง ๆ เพื่อเป็นไกด์ให้เราหาพ่อแม่พันธุ์ปลากัดมาเพาะเลี้ยงให้ได้รุ่นลูกที่ตรงกับความต้องการของตลาดต่อไป

สำหรับจุดเด่นของปลากัดไทยที่แตกต่างจากปลาสวยงามขนาดเล็กชนิดอื่นในท้องตลาด คือ ลักษณะของครีบลำตัวและครีบหางที่มีความหลากหลายทั้งแบบยาว แบบสั้น แบบคู่ หรือแบบเดี่ยว รวมไปถึงสีสันที่มีความสวยงามฉูดฉาดสะดุดตา โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ปลากัดสามารถแสดงจุดเด่นต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ คือ อาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง เพราะสารอาหารที่ปลากัดได้รับในช่วงตัวอ่อนจนถึงช่วงโตเต็มวัยจะส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาสีและครีบ ในธรรมชาติปลากัดจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ไรแดงคือของโปรดอันดับต้นๆ ของปลากัดที่มีสารอาหารสำคัญครบถ้วน ซึ่งไรแดงมีหลายประเภท ทั้งไรแดงสยาม ไรแดงเล็ก และไรแดงเทศ

ไรแดงเป็นไรน้ำที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลจากการศึกษา ระบุว่าสารอาหารที่ได้จากไรแดงประกอบด้วย โปรตีน 65-70% ไขมัน 7-10% และยังมีกรดอะมิโนสำคัญครบทั้ง 10 ชนิด จึงทำให้ไรแดงเหมาะอย่างยิ่งในการนำไปใช้เป็นอาหารเพาะเลี้ยงเพื่อเสริมจุดเด่นปลากัด

เมื่อก่อนเกษตรกรจะไปช้อนไรแดงจากบริเวณแหล่งน้ำเสียต่างๆ เช่น น้ำเสียจากชุมชน น้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ หรือน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีไรแดงหลายประเภทอยู่รวมๆ กัน แต่ละที่ก็จะมีปริมาณและคุณภาพไรแดงที่แตกต่างกัน บางครั้งก็อาจจะมีเชื้อโรคและปรสิตติดมากับไรแดงด้วย

แหล่งที่มามีผลอย่างมากต่อคุณภาพของไรแดง การใช้ไรแดงจากแหล่งน้ำเสียธรรมชาติมักพบการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคและปรสิตต่างๆ เช่น โพรโทซัวกลุ่ม Epistylis sp. ซึ่งหากนำไปใช้เป็นอาหารปลากัดอาจทำให้ปลาเป็นโรคตายได้ ปัจจุบันเกษตรกรจึงนิยมใช้ไรแดงจากฟาร์มเพาะเลี้ยงมาเป็นอาหารปลากัดแทน เพราะมีคุณภาพสูงกว่า

ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงไรแดงในเชิงธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการของตลาดสูง ทั้งฟาร์มกุ้ง ฟาร์มปลาน้ำจืดน้ำเค็ม หรือแม้กระทั่งฟาร์มปลากัด