กรมวิชาการเกษตรเตรียมกระจายต้นกล้ากัญชา 1 ล้านต้น สำหรับเป็นต้นพันธุ์ให้ประชาชน นำไปปลูกในครัวเรือนเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศ์รจิต) และ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามบันทึกช้อตกลงความร่วมมือเพื่อการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์และศึกษาวิจัย โดยมี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (นายสมบัติ ตงเต๊า) และ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์ภูวเดช สุระโคตร) ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและกรมวิชาการเกษตร ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขจ.นนทบุรี (19 พฤษภาคม 2565)
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ร่วมกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษา วิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชา กัญชงในประเทศ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีเป็นต้นพันธุ์คุณภาพ โดยหลังปลดล็อกกัญชาพ้นจากยาเสพติด ซึ่งจะมีผลในวันที่ 9 มิ.ย.65 กรมวิชาการเกษตรจะกระจายต้นกล้ากัญชา 1 ล้านต้น สำหรับเป็นต้นพันธุ์ให้ประชาชนนำไปปลูกในครัวเรือนเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยต้นแม่พันธุ์ได้มาจากโครงการต้นกล้าพันธุ์กัญชาทางการแพทย์บุรีรัมย์ รพ.สต.หนองครก ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนเกษตรนอกกรอบเพื่อรอยยิ้มที่ยั่งยืน และจะเริ่มแจก 1,000 ต้น ในงานมหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย.65 ภายในงาน นอกจากการแจกต้นกล้าพันธุ์แล้ว จะมีการนำร่องแอปพลิเคชันจดแจ้ง ของ อย. เพื่อความสะดวกให้กับเกษตรกร และแจกคู่มือการปลูกของกรมวิชาการเกษตรด้วย
นาย ระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร เป็นองค์กรที่เป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร โดยศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และพัฒนาวิชาการเกษตรด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับพืช ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐเอกชน และเกษตรกร รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับดิน น้ำ ปุ๋ย พืช วัสดุการเกษตร ผลผลิตและผลิตภัณฑ์พืช รวมถึงเป็นศูนย์กลางรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านพืชบนพื้นฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับมาตรฐานและพัฒนาการผลิตพืชให้ผลผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานสากล และให้บริการเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้กฎหมายที่รับผิดชอบประกอบด้วย พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติพันธุ์พืชพ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2552
ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้การดำเนินงานเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์พืชชนิดกัญชา กัญชง ในครัวเรือน ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยทำการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัย และพัฒนาพืชชนิดกัญชา กัญชง และจัดทำคู่มือการปลูกพืชสกุลกัญชาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกัญชา กัญชง เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้ปลูกสามารถผลิตกัญชา กัญชง ได้อย่างมีศักยภาพตามมาตรฐานการจัดการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม(Good Agriculture Practices : GAP)
ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร ได้ก่อสร้างอาคารวิจัยกัญชาระบบปิด โรงเรือนทดลองในระบบกึ่งปิด และแปลงทดลองในสภาพกลางแจ้ง ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จังหวัดเชียงราย รวมไปถึงแปลงทดสอบพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมกับพื้นที่ประเทศไทย ภายในศูนย์เครือข่ายภายใต้สังกัด กว่า 26 ศูนย์ฯ ทั่วประเทศโดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาพืชชนิดกัญชา กัญชง ของ กรมวิชาการเกษตร ทั้งด้านการพัฒนาสายพันธุ์ ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตแบบครบวงจร ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวนี้ นอกจากจะทำให้ได้สถานที่เพื่อรองรับการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตพืชชนิดกัญชา กัญชง แล้ว ยังสามารถใช้เป็นแหล่งผลิตและกระจายพันธุ์ และต้นกล้ากัญชา กัญชง สายพันธุ์ดี ภายใต้โครงการผลิตและกระจายต้นกล้ากัญชา กัญชง ไม่น้อยกว่า 1 ล้านต้น สนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตรและเกษตรกร ตลอดจนผู้ที่สนใจปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
กรมวิชาการเกษตร มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชงในครัวเรือน ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการปลูก และพัฒนาสายพันธุ์พืชชนิดกัญชา กัญชง รวมทั้งการศึกษาวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์พืชชนิดกัญชา กัญชง ในทางการแพทย์และสุขภาพ ทำให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และนำรายได้เข้ามาสู่ประเทศต่อไป