วันที่ 31 มกราคม 2566 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agricultural Map for Adaptive Management : Agri-Map) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมลงนาม
พร้อมด้วยนายปราโมทย์ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางสาว ภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการขับเคลื่อนงานภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 แนวทางนโยบายหลัก ปรับตามสถานการณ์และปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกในการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ ซึ่ง Agri-Map ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในปัจจุบัน
ด้านนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายจัดทำแผนที่สำหรับบริหารจัดการภาคการเกษตรของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรและการพาณิชย์ สำหรับวิเคราะห์การจัดการสินค้าเกษตร ตามความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภคและความเหมาะสมของการใช้ที่ดิน โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ทำให้ Agri-Map ถูกพัฒนาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้บริหารจัดการภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัย สะดวก และติดตามความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาสามารถใช้ได้บนแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์Agri-Map Online และบนแพลตฟอร์มมือถือ Agri-Map Mobile เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตร และวางแผนการบริหารจัดการภาคเกษตรภายใต้โครงการสำคัญต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรและผู้สนใจสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว”
สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้สนับสนุนปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกของพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิดพืช ตามรอบการสำรวจของกรมฯ และเพิ่มข้อมูลพืชเศรษฐกิจทางเลือกในการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรอีก 5 ชนิด ได้แก่ มะม่วง กล้วย ลองกอง โกโก้ และส้มโอ ส่วนเนคเทค สวทช. ยังสนับสนุนการนำงานวิจัยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโมเดลการทำนายพื้นที่เพาะปลูกพืชมาใช้ เพื่อช่วยลดภาระงานสำรวจพื้นที่ของทางกรมพัฒนาที่ดิน ปัจจุบัน ระบบ Agri-Map ได้เปิดให้ใช้งานได้ทั้งแบบออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ (Agri-Map Online) และแบบแอปพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Agri-Map Mobile) ซึ่งยังคงต้องมีการพัฒนาปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยและดูแลรักษาระบบให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Agri- Map คือแผนทีเกษตรเพื่อการจัดการเชิงรุก ซึ่งรวบรวมข้อมูลภูมิศาสตร์และข้อมูลประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ดิน น้ำ พืช ประมง ขอบเขตการปกครอง การใช้ประโยชน์ที่ดิน ประชากร ทะเบียนเกษตรกร การตลาดและโลจิสติกส์ ซึ่งจะบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านเกษตรจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการใช้งาน Agri-Map มีแนวคิดที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตร แผนที่ความเหมาะสมของการปลูกพืช (Zoning ดิน น้ำ พืช) ปัจจัยการผลิต พื้นที่ใน/นอกเขตชลประทาน แหล่งน้ำผิวดิน/ใต้ดิน Cropping Pattern และ Cropping Requirement
โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลจัดทำเป็นแผนที่รายจังหวัด จากข้อมูลขอบเขตการปกครอง การใช้ที่ดินในปัจจุบัน พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ พื้นที่ที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมกับพืชเศรษฐกิจรายชนิดที่ปลูกในปัจจุบัน แหล่งน้ำผิวดิน/บ่อบาดาลในปัจจุบัน และแผนการพัฒนาแหล่งน้ำระหว่างปี 2560-2570 ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ด้านการบริหารจัดการด้านเกษตรของไทย ให้เกิดความสมดุล มั่นคงยั่งยืนต่อไป