กรมเจ้าท่า รับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์เพื่อทำการประมง นอกน่านน้ำไทย


จากนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ ได้ออกประกาศกระทรวง เรื่องการงดจดทะเบียนเรือประมงเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 5)  ให้นายทะเบียนเรืองดจดทะเบียนเรือประมงเป็นระยะเวลาหนึ่งปี เว้นแต่เป็นการจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์เพื่อทำการประมงนอกน่านน้ำไทย นั้น 

IMG 64508 20230203101626000000 scaled
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เป็นประธานฯในการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพิจารณาร่างระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์เพื่อทำการประมงนอกน่านน้ำ พ.ศ. … อันจะส่งเสริมการจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์เพื่อทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ โดยมี นายนรินทร์ศักย์ สัทธาประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานทะเบียนเรือ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสาครวิสัย ชั้น 4 อาคาร 162 ปี กรมเจ้าท่า และผ่านระบบ Video  Conference (Zoom) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566

commercial fishing 1659253 960 720
เรือประมงพาณิชย์

การรับฟังความคิดเห็นฯ ดังกล่าวจัดขึ้นโดยกลุ่มทะเบียนเรือและนิติกรรม สำนักมาตรฐานทะเบียนเรือ เพื่อให้ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์เพื่อทำการประมง นอกน่านน้ำ พ.ศ. … เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ซึ่ง “เรือประมงพาณิชย์ เพื่อทำการประมงนอกน่านน้ำไทย” หมายถึง เรือกลประมงทะเลลึก ที่มีขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไป ที่ใช้หรือเจตนาจะใช้หรือมีหรือติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ทำการประมง เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในทางการค้าในพื้นที่ทะเลหลวงที่อยู่พ้นจากทะเลนอกชายฝั่ง และหมายความรวมถึงทะเลที่อยู่ในเขตของรัฐชายฝั่งอื่นอีกด้วย และการจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์เพื่อทำการประมงนอกน่านน้ำไทยจะต้องได้รับหนังสือรับรองจากกรมประมงด้วย ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันพิจารณาผลดี ผลเสีย รวมไปถึงให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ก่อนกรมเจ้าท่าดำเนินการให้ระเบียบฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีการประมง ทั้งในเรื่องความรู้และอุปกรณ์เครื่องมือสำรวจต่าง ๆ ที่ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้สามารถบุกเบิกและสำรวจค้นหาแหล่งทำประมงใหม่ ๆ เช่น แหลมญวน ทะเลจีนใต้ อ่าวบอร์เนียว อ่าวเมาะตะมะ และอ่าวเบงกอล ทำให้อุตสาหกรรมการประมงไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผลผลิตสัตว์น้ำทะเลของไทยเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยถูกจับเพิ่มขึ้นจนเกินศักยภาพการผลิต ชาวประมงเริ่มรู้สึกว่าการจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยในแต่ละเที่ยวได้ปริมาณสัตว์น้ำน้อยลง ต้องใช้ระยะเวลาในการทำประมงนานขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการทำประมงของชาวประมงสูงขึ้น แต่ผลตอบแทนลดต่ำลง ชาวประมงประสบภาวะขาดทุน เพื่อความอยู่รอดชาวประมงส่วนหนึ่งจึงต้องดิ้นรนเพื่อนำเรือออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทย
           

ทั้งนี้การประมงนอกน่านน้ำนั้นมี 2 ลักษณะ คือ 1) การทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ส่วนใหญ่เป็นแหล่งประมงในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงและบางแหล่งเป็นแหล่งประมงที่กองเรือประมงไทยเคยทำการประมงมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งนั้น ๆ รูปแบบของการเข้าทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศของเรือประมงไทยมี 4 รูป แบบ คือ  1.การได้รับสิทธิทำประมงจากรัฐบาลของประเทศที่จะเข้าไปทำการประมง  2.การร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทภายในประเทศที่จะเข้าไปทำการประมง  3.บริษัทภายในของต่างประเทศเช่าเรือประมงไทยเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำของตน และ  4.เรือประมงไทยซื้อตั๋วจากบริษัทชาวประมงในท้องที่เพื่อเข้าไปทำการประมงเฉพาะบริเวณ                      

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศไม่น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากประเทศเจ้าของทรัพยากรหลายประเทศเริ่มมีนโยบายไม่อนุญาตให้เรือประมงต่างชาติเข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำของตน หรือที่ได้รับอนุญาตก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัด
               

2) การทำประมงในทะเลหลวง ซึ่งเป็นแหล่งประมงที่ไม่ได้ขึ้นกับรัฐชายฝั่งใด ๆ  ประเทศไทยเริ่มออกทำการประมงในทะเลหลวงในปี 2541 บริเวณมหาสมุทรอินเดียด้วยเรืออวนล้อมขนาดใหญ่