“สินค้าเกษตรนวัตกรรม”ฮอต พาณิชย์ จัดเจรจาออนไลน์ ต่างชาติแห่ซื้อกว่า 22 ล้าน

กรมการค้าต่างประเทศจับมือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นำผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรม กว่า 30 รายการ เข้าร่วมเจรจาการค้าออนไลน์ (OBM) กับผู้ซื้อจาก 14 ประเทศ ได้รับความสนใจล้นหลาม ตกลงกันได้ 46 คู่ คาดการณ์ซื้อขายภายใน 1 ปี มูลค่า 22.4 ล้านบาท
         

%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C %E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B9%8C %E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11-12 ม.ค.2566 และ 18-19 ม.ค.2566 กรมฯ โดยสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (APi) ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดกิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ภายใต้ชื่อ API : Agricultural Product Innovation 2023 โดยนำผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรม ที่นำสินค้าจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.com จำนวน 12 ราย สินค้ากว่า 30 รายการ เจรจาการค้ากับผู้ซื้อจาก 14 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ชิลี จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น สปป.ลาว มาเลเซีย ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ สเปน ไต้หวัน ตุรเคีย และเวียดนาม ผ่านความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) 16 แห่ง ได้แก่ บัวโนสไอเรส ซันติอาโก คุนหมิง เซี่ยเหมิน ฮ่องกง เจนไน โตเกียว โอซาก้า เวียงจันทน์ กัวลาลัมเปอร์ อาบูจา มะนิลา มาดริด มะนิลาส่วนที่สอง อังการา และโฮจิมินห์
         

ทั้งนี้ ในการจัดกิจกรรม OBM มีสินค้าเกษตรนวัตกรรมที่โดดเด่นและได้รับความสนใจ เช่น น้ำนมข้าวออร์แกนิก แผ่นข้าวกล้องอบกรอบ นมข้าวชนิดผง วุ้นไฟเบอร์ธรรมชาติจากข้าว เครื่องสำอางที่ทำจากข้าว แยมทาขนมปังจากข้าว แผ่นข้าวกล้องอบกรอบ โจ๊กข้าวกล้องออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลัง เป็นต้น โดยมีการเจรจาจับคู่ทั้งสิ้น 46 คู่เจรจา และมีผลการสั่งซื้อคาดการณ์ภายใน 1 ปี มูลค่ารวมกว่า 22.4 ล้านบาท

“ความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูปและนวัตกรรมของไทย มีโอกาสในการส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น และสามารถแสดงศักยภาพในตลาดสากลได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังเป็นการผลักดันให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงในทุกช่องทางการจำหน่าย ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ”นายรณรงค์กล่าว

สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยใช้กลยุทธ์ “ตลาดนำการผลิต” ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และยังเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าว และยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปี 2564-2567 ด้านการตลาดต่างประเทศ ที่มุ่งเน้นการแสดงศักยภาพและยกระดับสินค้าเกษตรนวัตกรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โอกาสและความท้าทายของผลผลิตทางการเกษตรแปรรูปหรือผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปนั้น มาจากความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคาดการณ์ว่าจะเพิ่มมากขึ้นตามแรงสนับสนุนของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีวิถีการดำเนินชีวิตค่อนข้างวุ่นวายและเหลือเวลาในแต่ละวันสำหรับการประกอบอาหารค่อนข้างน้อยลง จึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต รวมไปถึงความนิยมในการดูแลสุขภาพที่กำลังแพร่หลายและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่ช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปมีการเติบโตตามไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีนโยบายของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจการแปรรูปสินค้าเกษตรและต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตอาหารผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรและยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า รวมถึงตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคตได้ด้วยดังนั้น กระแสความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าเกษตรแปรรูปของผู้บริโภค ความชื่นชอบในรสชาติผลไม้ของไทยและการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านโครงการต่าง ๆ จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเป็นแรงกระตุ้นในการพัฒนาตนเองของผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป