ปลัดเกษตรฯ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ปี 2566 เชื่อมั่นทุกฝ่ายมีความพร้อมจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ปลัดเกษตรฯ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ปี 2566 เชื่อมั่นทุกฝ่ายมีความพร้อมจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หลังผ่านซ้อมใหญ่วันที่ 9 และ 12 พ.ค.นี้ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

     

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการซ้อมใหญ่งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) ณ ท้องสนามหลวง โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวดวงพร งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักพระราชวัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เข้าร่วมในการซ้อมใหญ่ดังกล่าวโดยขณะนี้ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธีฯ ซึ่งจะให้มีขึ้นในวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ตามฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.09-08.39 น. งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องมาแต่โบราณมีความงดงาม และมีความหมายต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพการทำนาและผู้ประกอบอาชีพการเกษตร

     

%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3
ซ้อมใหญ่งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เปิดเผยว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือที่นิยมเรียกว่า พิธีแรกนา กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ให้จัดขึ้นในเวลานั้นอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก ทั้งนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้สืบทอดมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 เว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เว้นแต่ปี พ.ศ.2563-2564 ซึ่งประเทศไทยประสบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มิได้จัดงานพระราชพิธีฯ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลองสวนจิตรลดา และได้เริ่มมีการจัดพระราชพิธีฯ ในรูปแบบปกติ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

       

%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B2 2
ซ้อมใหญ่งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

“สำหรับในปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2566 และขอเชิญเกษตรกรและประชาชนรับชมการถ่ายทอดพระราชพิธีฯ ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสื่อโซเชียลมีเดีย สำหรับการเตรียมงานพระราชพิธีฯ ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2566 และแต่งตั้งคณะทำงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2566 จำนวน 21 คณะ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดและหน่วยงานภายนอกเป็นอย่างดียิ่ง เพื่อให้การดำเนินงานพระราชพิธีฯ ดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสมบูรณ์” ปลัดเกษตรฯ กล่าว

         

อนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น“วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรร่วมกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพทางเกษตรกรรม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ นอกจากนี้ ในงานพระราชพิธีฯยังมีการมอบรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประเภทต่าง ๆ รวมทั้งปราชญ์เกษตรของแผ่นดินที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติอีกด้วย