ครม.อนุมัติ 2 ร่างพรฎ. ปลดล็อก 14 อุทยานฯ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้สิทธิประชาชนอยู่อาศัยทำกินได้ถูกกฎหมาย

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบและอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ 

ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. ระยะเวลาโครงการ 20 ปีนับแต่ พ.ร.ฎ. ใช้บังคับ สำหรับพื้นที่โครงการ ใน 7 เขตอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ. จันทบุรี 2.อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จ. จันทบุรี 3.อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จ. กาญจนบุรี 4.อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ จ. อุตรดิตถ์ 5.อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จ. เพชรบูรณ์ 6.อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ. เพชรบูรณ์ และ 7.อุทยานแห่งชาติลานสาง จ. ตาก 

%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%B3
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล

สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. ….ระยะเวลาโครงการ 20 ปีนับแต่ พ.ร.ฎ. ใช้บังคับ สำหรับพื้นที่โครงการ ใน 7 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ได้แก่ 1.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล จ. พิษณุโลก 2.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ. ลพบุรี 3.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ จ. เชียงราย 4.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จ. อุทัยธานี 5.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จ. เพชรบูรณ์ 6.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ. อุทัยธานี และ 7.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา จ. อุตรดิตถ์

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับประโยขน์ในสิทธิอาศัยและทำกินในเขตดังกล่าว ได้แก่ บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยหรือได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่เป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตดังกล่าวภายใต้กรอบเวลาตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 41 (อยู่ในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และ/หรือก่อนวันที่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ใช้บังคับ) หรือตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 (เป็นผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ไร้ที่ดินทำกินที่อยู่ในพื้นที่ก่อนวันที่ 17 มิ.ย. 57) และมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่โครงการหรือได้ครอบครองที่ดินรวมทั้งทำประโยชน์มาโดยต่อเนื่องและไม่มีที่ดินทำกินอื่น

การอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่โครงการ อาทิ ครอบครองและใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง, ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน, กำหนดพื้นที่ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ (ไม่เกิน 50 ไร่กรณีอยู่กันเป็นครัวเรือนตั้งแต่ 3 ครอบครัวขึ้นไป), ทำประโยชน์และอยู่อาศัยต่อเนื่อง ไม่ละทิ้งติดต่อกันเกิน 1 ปีโดยไม่มีเหตุอันสมควร, ไม่อนุญาตให้ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืม หรือโอนการครอบครองให้บุคคลอื่นรวมถึงไม่บุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติม โดยผู้เข้าร่วมโครงการอยู่อาศัยจะมีหน้าที่และส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพภายในเขตพื้นที่โครงการ

“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการมาโดยตลอดในส่วนของแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ร่าง พ.ร.ฎ 2 ฉบับนี้เป็นการสร้างสมดุลในการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยและทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมายและยังให้การอนุรักษ์ธรรมชาติมีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป” น.ส.ทิพานัน กล่าว