ใช้ FTA ส่งออก 5 เดือน 3.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จับตา “มะพร้าว” รุ่ง ใช้สิทธิ์ไปจีนพุ่ง

กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA ในช่วง 5 เดือนปี 66 มีมูลค่า 33,455.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.76% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 76.70% ของมูลค่าส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด อาเซียนยังนำโด่งตลาดที่มีการใช้สิทธิ์สูงสุด ตามด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย อาเซียน-อินเดีย ส่วนกรอบ RCEP มีการใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นถึง 81.50% หากเจาะลึกเป็นรายสินค้า พบผลไม้มีการใช้สิทธิ์ส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จับตามะพร้าวมาแรง ใช้สิทธิ์ส่งออกไปจีนพุ่ง 26.96%
         

%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C 5
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 5 เดือนปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) จำนวน 12 ฉบับ มีมูลค่ารวม 33,455.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.76% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 76.70% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 43,616.09 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกรอบ FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน อาเซียน-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย และอาเซียน-อินเดีย
         

สำหรับรายละเอียดกรอบ FTA ที่มีการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน มีมูลค่า 12,164.80 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 74.48% เป็นการใช้สิทธิ์ส่งออกไปอินโดนีเซียสูงสุด มูลค่า 3,263.85 ล้านเหรียญสหรัฐ มาเลเซีย มูลค่า 2,919.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนาม มูลค่า 2,705.48 ล้านเหรียญสหรัฐ และฟิลิปปินส์ มูลค่า 2,027.32 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิ์ เช่น ยานยนต์สำหรับขนส่งของ (น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน) น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส และรถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล (1,500-3,000 cc) เป็นต้น
         

อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มีมูลค่า 10,409.99 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ์ 97.99% สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิ์ เช่น ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง ผลไม้สด (ฝรั่ง มะม่วง มังคุด) สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และน้ำตาลอื่น ๆ ที่บริสุทธิ์ในทางเคมี เป็นต้น
         

อันดับ 3 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีมูลค่า 2,739.51 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ์ 71.57% สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิ์ เช่น เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อไก่แช่แข็ง เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ช น้ำมันเบาและสิ่งปรุงแต่ง กุ้งปรุงแต่ง กระสอบและถุงทำด้วยโพลิเมอร์ของเอทิลีน ลวดและเคเบิลทำด้วยทองแดง เป็นต้น

อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มีมูลค่า 2,304.38 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ์ 63.24% สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิ์ เช่น รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) รถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด 2,500 cc ขึ้นไปและขนาด 1,000-1,500 cc ปลาทูน่าปรุงแต่ง และโพลิเอทิลีน เป็นต้น
         

อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มีมูลค่า 2,157.83 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ์ 65.56% สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิ์ เช่น  ลวดทองแดง สารประกอบออร์แกโน-อินออร์แกนิก เครื่องรับสำหรับวิทยุกระจายเสียง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และโพลิ (ไวนิลคลอไรด์) เป็นต้น
         

ส่วนความตกลง RCEP มีสถิติถึงช่วง 4 เดือนปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) พบว่า มีการส่งออกไปยัง 10 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา มีมูลค่าการใช้สิทธิ์รวม 570.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 81.50% โดยสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP เช่น น้ำมันหล่อลื่น เครื่องดื่มชูกำลัง ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น หัวเทียน เลนส์ ปริซึม และรถจักรยานยนต์ (50–250 cc) เป็นต้น
         

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการใช้สิทธิ์ส่งออกเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน ฝรั่ง มะม่วง และมังคุด เป็นต้น เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน อีกทั้งยังมีมูลค่าการใช้สิทธิ์ส่งออกสูงภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มากกว่า 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้ามะพร้าวทั้งกะลา ก็เป็นหนึ่งในสินค้าผลไม้จากไทยที่มีการขยายตัวสูงในจีน โดยในช่วงกลางไตรมาส 2 ของปี 2566 สินค้ามะพร้าวทั้งกะลามีมูลค่าการใช้สิทธิ์ส่งออกไปจีน สูงถึง 187.91 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 26.96% โดยจีนมีการนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลาจากไทยเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนปริมาณการนำเข้าสูงถึง 54.83% และมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 80.02% ของการนำเข้าสินค้ามะพร้าวทั้งกะลาทั้งหมด ซึ่งการนำเข้าโดยใช้สิทธิ์ ACFTA ทำให้ไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจีนเหลือ 0% จากเดิมที่จะต้องเสียภาษี 60% (MFN Rate)
         

อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA ต่าง ๆ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าทางด้านภาษี อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถให้ผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่สินค้าที่จะส่งออกต้องมีมาตรฐาน คุณภาพดี และเป็นไปตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี โดยกรมพร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ส่งออกหากมีข้อสงสัยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทรสายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชันชื่อบัญชี “@gsp_helper”