กสส.เปิดผลสำเร็จของโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร

%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%AA 2
เปิดผลสำเร็จปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร

“โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวมและการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร”         เป็นโครงการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2563 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจากปัญหาไม่สามารถขายผลผลิตทางการเกษตรได้ เนื่องจากแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรหลายแห่งหยุดให้บริการ ปัญหาการชะลอการรับซื้อผลผลิตหรือซื้อผลผลิตในปริมาณที่ลดน้อยลง จนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ขายไม่ได้ราคา รวมถึงปัญหาในกรณีที่สหกรณ์เข้ามารับซื้อผลผลิตจากสมาชิกแต่ก็ประสบปัญหาขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ในการรวบรวม จัดเก็บและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างบทบาทของสหกรณ์ภาคการเกษตรให้สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรในระดับพื้นที่ และเป็นกลไกสำคัญของชุมชนในการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไปในการประกอบอาชีพ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับให้สหกรณ์นำไปจัดสร้างอุปกรณ์การตลาดและจัดหาเครื่องมือแปรรูปผลผลิตการเกษตร ซึ่งรัฐอุดหนุนงบประมาณไม่เกินร้อยละ 90 และให้สหกรณ์จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%AA 1
เปิดผลสำเร็จปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกและเพิ่มศักยภาพของสหกรณ์ในทุกระดับได้อย่างทั่วถึง กรมได้แบ่งระดับของสหกรณ์ที่ได้รับสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับแม่ข่าย ซึ่งสหกรณ์ “ในระดับแม่ข่าย” จะทำหน้าที่ในการให้บริการเกษตรกรสมาชิกของตนเอง สหกรณ์ลูกข่าย/เครือข่ายในพื้นที่ภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง โดยเน้นเรื่องการช่วยรวบรวมผลผลิตของสมาชิกให้ครอบคลุมและทั่วถึง รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ในราคาที่เป็นธรรม
มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาต่อยอด และผลักดันให้สหกรณ์มีศักยภาพในการรวบรวมและแปรรูปได้อย่างมีมาตรฐานในระดับอุตสาหกรรมการเกษตรหรือเกษตรแปรรูปตามความต้องการของตลาด

%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%AA 3
เปิดผลสำเร็จปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร

โดยปัจจุบันกรมส่งเสริมสหกรณ์ มี “สหกรณ์ระดับแม่ข่าย” จำนวน 24 สหกรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด รวมทั้งหมดได้รับอุดหนุนอุปกรณ์การตลาดไปจำนวน 79 รายการ เป็นจำนวนเงิน 1,150 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 ของโครงการ ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการขับเคลื่อนบทบาทแม่ข่ายของสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด จังหวัดพิษณุโลก สามารถวิเคราะห์ได้ 4 ประเด็น ดังนี้

%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%AA 5
เปิดผลสำเร็จปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร

1.การมีส่วนร่วมในการขายผลผลิตสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการบริการสมาชิกเป็นลำดับแรก โดยมีการบริหารจัดการอุปกรณ์การตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังพบข้อจำกัดในด้านการให้บริการแก่สมาชิกในพื้นที่ห่างไกลที่อาจยังไม่ทั่วถึง และจำนวนคู่แข่งทางการค้าที่มีเพิ่มมากขึ้น

2. การรับซื้อผลผลิตการเกษตรจากเกษตรกรทั่วไปสหกรณ์มีความพร้อมในศักยภาพด้านการรวบรวม/แปรรูปเพียงพอที่จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทั่วไปได้

3. การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นสหกรณ์สามารถเป็นศูนย์กลางสำคัญในการตอบรับนโยบายจากภาครัฐได้ รวมถึงเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการจัดอบรมให้กับสมาชิก ผ่านโครงการของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่

4. การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรพบว่ามีการเชื่อมโยงเครือข่ายของสหกรณ์ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์ในพื้นที่ใกล้เคียง และให้บริการอบลดความชื้นกับสหกรณ์ใกล้เคียงที่ประสบปัญหาด้านวัตถุดิบมีความชื้นสูง รวมทั้งมีแผนงานความร่วมมือกับบริษัทเอกชนในพื้นที่ในการผลิตอาหารสัตว์ซึ่งใช้วัตถุดิบเป็นข้าวเปลือก เพื่อขยายการรวบรวมไปยังสหกรณ์ใกล้เคียงด้วย

ทั้งนี้ “สหกรณ์ระดับแม่ข่าย” ถือว่ามีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานโครงการปรับโครงสร้างการผลิตการรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาพรวมการรวบรวมผลผลิตสินค้าเกษตรของสหกรณ์ ปีการผลิต 2566 สถาบันเกษตรกรสามารถเป็นจุดรวบรวมรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไปได้ถึง 6,273,590 ตัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 70,972 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเดินหน้าในการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรเพิ่มการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับอย่างเต็มศักยภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกสหกรณ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพของคนในชุมชน จนนำไปสู่การยกระดับภาคการเกษตรของประเทศไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้นไป