นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมฯ ทำแผนขยายตลาดเป้าหมายแบบเชิงรุกและเชิงลึก ล่าสุดกรมฯ ได้เดินหน้าขยาย “ตลาดอินเดียแบบเชิงลึก” โดยมีแผนที่จะเพิ่มการจัดกิจกรรมเจาะตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะเร่งรัดการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับรัฐเป้าหมายในอินเดียให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อผลักดันการส่งออกในปี 2565 ให้เป็นไปตามเป้าหมายมูลค่า 9,216.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8%
สำหรับกิจกรรมที่กรมฯ จะดำเนินการเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับ Lulu Mall ในการทำตลาดสินค้าไทย ช่วง 10-31 ก.ค.2565 จัด Top Thai Brand และ Thailand Week ที่กรุงนิวเดลี จัดงาน Thai Trade Expo 2022 ที่รัฐเตลังคานา วันที่ 5-7 ส.ค.2565 จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (OBM) สินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ผักและผลไม้ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง แบตเตอรี อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ และธุรกิจบริการ ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องจนถึงเดือนก.ย.2565
ทั้งนี้ กิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การจัด In-Store Promotion ร่วมกับ Ratanadeep Supermarket มีมูลค่าการสั่งซื้อทันที 1.25 ล้านบาท การจัด Top Thai Brand 2022 ที่เมืองปูเน่ มีมูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 200 ล้านบาท และกิจกรรม OBM ช่วงต.ค.2564-เม.ย.2565 มีมูลค่าการสั่งซื้อรวม 688.81 ล้านบาท รวมทำรายได้เข้าประเทศแล้ว 1,371.63 ล้านบาท
นายภูสิตกล่าวว่า กรมฯ ยังมีเป้าหมายในการเดินหน้าจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับรัฐต่าง ๆ ของอินเดียเพิ่มขึ้นหลังจากที่ได้ลงนามกับรัฐเตลังคานาของอินเดียไปแล้ว เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ ที่เป็นครั้งแรกที่กระทรวงพาณิชย์มีการลงนาม MOU ด้านการค้าการลงทุนกับรัฐบาลระดับรัฐของอินเดีย โดยมีแผนที่จะทำMOU ลักษณะเดียวกันนี้กับรัฐอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดียเพิ่มเติม ได้แก่ รัฐกรณาฏกะ รัฐมหาราษฏระ รัฐเกรละ รัฐอัสสัม และรัฐคุชราต ทั้งนี้ รัฐที่มีความคืบหน้า คือ รัฐกรณาฏกะ และรัฐมหาราษฏระ ที่คาดว่าจะมีการลงนามกันได้ในไม่ช้านี้
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในอินเดีย เดินหน้าศึกษาและหาโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุน หรือร่วมลงทุนทำธุรกิจในอินเดียในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ภาคบริการ การโรงแรมและการท่องเที่ยว การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ การผลิตส่วนประกอบยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปอาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่อินเดียยังขาดทักษะและความเชี่ยวชาญ
รวมทั้งการหาลู่ทางในการขยายตลาดสินค้าไทยในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การส่งสินค้าป้อนตลาดค้าปลีกและแฟรนไชส์ในอินเดีย โดยเฉพาะ E-commerce startups เนื่องจากฐานผู้บริโภคชนชั้นกลางถึงชั้นสูงที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน อินเดียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ ในปี 2564 การค้ารวมมีมูลค่า 14,940.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52.52% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 8,534.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 55.05% และนำเข้า มูลค่า 6,406.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 49.28% ส่วนช่วง 3 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) การค้ารวมมีมูลค่า 4,600.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.30% แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 2,578.76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33.03% และนำเข้ามูลค่า 2,021.38 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.75%