เกษตรกรโคนม เฮ ครม. เคาะ ปรับราคาน้ำนมดิบ 22.75 บ./ก.ก. เพิ่มขึ้นจากราคาเดิมอีก 2.25 บาทหลังเกษตรกรเรียกร้องมานานกว่า 1 ปี ขาดทุนเลิกเลี้ยงหลายราย

messageImage 1699414801438
ครม.เห็นชอบราคาน้ำนมดิบ 22.75บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.25 บาท/กิโลกรัม

ค.ร.ม.เห็นชอบการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมโค เป็น 22.75 บ./ก.ก. หรือเพิ่มขึ้นจากราคาเดิมอีก 2.25 บาท หลังตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรพยายามเรียกร้องให้ปรับราคาเนื่องจากแบกรับต้นทุน โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ หลายคนต้องเลิกเลี้ยงเพราะขาดทุน ส่งผลให้น้ำนมดิบขาดตลาด

messageImage 1699414812498
ครม.เห็นชอบราคาน้ำนมดิบ 22.75บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.25 บาท/กิโลกรัม

ข้อมูลจาก เว็บไซต์รัฐบาลไทย ( สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 7 พฤศจิกายน 2566 (thaigov.go.th)ระบุว่า สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 7 พฤศจิกายน 2566 13. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เรื่อง ขออนุมัติปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 (เรื่อง ขออนุมัติปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม) จากเดิมเห็นชอบการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมโคเป็น 20.50 บาท/กิโลกรัม เป็นปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมโคเป็น 22.75 บาท/กิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 2.25 บาท) เพื่อให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ประกอบการตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม [คกก.โคนมฯ (ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน)] ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

messageImage 1699414880635 1
ครม.เห็นชอบราคาน้ำนมดิบ 22.75บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.25 บาท/กิโลกรัม

จากข้อความที่เผยแพร่ ทำให้กลุ่มเกษตรกรโคนมบางส่วนมองว่า ยังไม่แน่ใจว่ามีการปรับราคาน้ำนมดิบจริงหรือไม่ กระทั่งวันนี้ เพจเฟซบุ๊ก โคนมอาชีพพระราชทานได้ เผยแพร่ข้อมูล หลังสอบถามไปยัง ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ซึ่งยืนยันว่า มติคณะรัฐมนตรี 7 พ.ย.66 เห็นชอบ ปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมโค เป็น 22.75 บ./ก.ก. หรือเพิ่มขึ้นจากราคาเดิมอีก 2.25 บาท สร้างความดีใจให้กับกลุ่มเกษตรกรโคนมทั่วประเทศ ที่บอกว่ารอมานานกว่า 1 ปี หลายคนขาดทุนต้องเลิกเลี้ยง และมองว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ส.ค.65 ที่ให้ปรับราคาน้ำนมดิบ แต่ราคาที่ปรับขึ้นก็ไม่มากพอที่จะช่วยเกษตรกร เพราะราคาอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เกษตรกรเจอปัญหาวัวป่วยโรคปากเท้าเปื่อย และลัมปีสกิน ต้นปี 2566 จึงมีความพยายามเรียกร้องขอรับราคาน้ำนมดิบอีกครั้ง

ลำดับเหตุการณ์ที่ตัวแทนเกษตรกรโคนม พยายามยื่นเรื่องให้ภาครัฐพิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ตามต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

1.หลังความพยายามเรียกร้องของชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย วันที่ 14 มี.ค. ก็มีข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ (Milk board) มีมติ เห็นชอบให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ปี 2566 จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 21 บาท 25 สตางค์และเห็นชอบให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 จากกิโลกรัมละ 20 บาท 25 สตางค์ เป็น 22 บาท 75 สตางค์แต่การปรับราคา ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งขณะนั้นต้องรอหลังเลือกตั้ง

2.วันที่ 9 พ.ค.66 ตัวแทนเกษตรกรโคนมชุมนุมเรียกร้องการติดตามการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ และที่ประชุม ครม. กลับไม่มีการนำเสนอวาระปรับราคาน้ำนมดิบ หลังจากนั้นตัวแทนเกษตรกรได้ประชุมหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ก็ได้คำตอบว่า ต้องรอ ครม.พิจารณา ซึ่งวันที่ 16 พ.ค. ก็ไม่มีการนำวาระปรับราคาน้ำนมดิบเข้าที่ประชุม ครม. อีก

3.มีสหกรณ์โคนมฯ บางแห่งเริ่มปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่แบกภาระขาดทุน เพราะรอภาครัฐไม่ไหว มีข้อมูลว่า บริษัทเอกชนที่รับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนม และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเอกชน ปรับราคารับซื้อ น้ำนมดิบกิโลกรัมละ 23- 25 บาท เพราะน้ำนมดิบขาดตลาด

4.วันที่ 7 มิ.ย.66 เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือให้รองนายกรัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดพิจารณาปรับราคาน้ำนมดิบ แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาอยู่ดี เพราะ การปรับราคาน้ำนมดิบ จะส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณนมโรงเรียน ที่ต้องปรับตามน้ำนมดิบ ซึ่งภาคเรียนที่ 1 มีการทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนไปแล้ว จึงต้องรอภาคเรียนที่ 2 หรือช่วงเดือนตุลาคม จึงจะทำสัญญาใหม่ได้

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นอกจากจะพิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบแล้ว ก็ต้องพิจารณาปรับขึ้นราคานมโรงเรียน หรือเพิ่มงบประมาณโครงการนมโรงเรียนด้วย ซึ่งอาจต้องเพิ่มเงินอีกกว่า 1,400 ล้านบาท จากเดิม คือ 1 หมื่น 4 พันล้านบาท ต่อปี

ล่าสุด 7 พ.ย.66 ค.ร.ม.เห็นชอบการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมโค เป็น 22.75 บ./ก.ก.