​สนค.ชี้เป้าตามหาอินฟลูเอนเซอร์ รีวิวสินค้าเกษตร เน้นคนชุมชนยอมรับ เพิ่มโอกาสทำเงิน

สนค.ชี้เป้าตามหาอินฟลูเอนเซอร์ ช่วยรีวิวสินค้าและบริการไทย ตามนโยบาย “ภูมิธรรม” หากเป็นสินค้าเกษตร ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากชุมชน เพื่อดึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านการทำคอนเทนต์ต้องมีความรู้ด้านการเกษตร สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ง่าย ถึงจะช่วยเกษตรกรทำเงิน ระบุอินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลจริง คนชอบดูรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อ เผยติ๊กต๊อกมาแรง  

%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C %E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C 1
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการค้นหาอินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้าและบริการของไทย ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ค้นหาอินฟลูเอนเซอร์มารีวิวสินค้าและบริการของไทยผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางให้คนรู้จักและตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของไทยเพิ่มขึ้น ว่า อินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับการคัดเลือก จะต้องได้รับการยอมรับจากชุมชน เพราะเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เนื่องจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จะช่วยส่งเสริมให้ชุมชนเห็นประโยชน์ร่วมกันในการร่วมมือกันผลักดันสินค้าของตนให้เป็นที่รู้จัก ส่วนการทำคอนเทนต์ หรือเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร ก็ต้องให้ความสำคัญต่อการให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าเกษตรของไทย เพื่อสร้างการรับรู้เชิงลึก และช่วยให้เกษตรกรสามารถต่อยอดสร้างรายได้ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ มีกรณีตัวอย่างของศูนย์การเรียนรู้เชียงแสนมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ด้านกระบวนการสร้างบุคคลที่จะเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ด้านการเกษตรท้องถิ่น ควรมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.มีองค์ความรู้ด้านการเกษตรกรรมเพื่อให้ความรู้ในการทำการเกษตรกรรมได้ถูกต้องและน่าเชื่อถือ 2.มีประสบการณ์ด้านการเกษตรกรรม เนื่องจากประสบการณ์ของผู้ถ่ายทอดหรือความเชี่ยวชาญของบุคคลที่ นำเสนอจะช่วยสร้างความน่าสนใจและนำไปสู่เทคนิคที่สำคัญได้ 3.มีรูปแบบหรือสไตล์ที่เป็นกันเอง กล่าวคือ สามารถใช้ภาษาถิ่นที่เป็นภาษาใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ติดตาม และมีเทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจ และ 4.มีมุมมองการถ่ายทอด เรื่องเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเล่าเรื่องที่เฉียบคม น่าสนใจสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนกระทรวงพาณิชย์ จะต้องสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้กับอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ในการเรียนรู้ภาคเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทยเชิงลึกมากขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรไทย ไปยังสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และตรงกลุ่มเป้าหมาย และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้ตามเป้า

นายพูนพงษ์กล่าวว่า การเติบโตของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ มีความสำคัญต่อการทำการตลาดสินค้าและบริการในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่อิทธิพลดังกล่าวขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์ โดยมีการแบ่งอินฟลูเอนเซอร์เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.นาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) มีผู้ติดตาม 1,000–10,000 คน 2.ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) มีผู้ติดตาม 10,000–100,000 คน 3.แมคโครอินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencer) มีผู้ติดตาม 100,000–1,000,000 คน และ 4.เมกะ/เซเลบริตี้อินฟลูเอนเซอร์ (Mega/ Celebrity Influencer) มีผู้ติดตาม มากกว่า 1,000,000 คนขึ้นไป

โดยหากยอดผู้ติดตามมาก ก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ส่วนใหญ่ที่มีพฤติกรรมการรับชมการรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อนตัดสินใจซื้อ จากการการนำเสนอในรูปแบบการแชร์ประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากการทดลองใช้สินค้า และบรรยายสรรพคุณอย่างละเอียด ซึ่งถือเป็นการตลาดแบบ “ปากต่อปาก” เหมือนเพื่อนบอกต่อสิ่งดี ๆ ให้แก่กัน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายกว่าการรับชมผ่านโฆษณาทั่วไป

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมที่มีการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุดของประเทศไทยในปี 2565 อันดับ 1 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 39 อันดับ 2 ได้แก่ แฟชันและความงาม ร้อยละ 17.4 และ อันดับ 3 ได้แก่ อุปกรณ์เสริม (Gadgets) และแบรนด์เครื่องมือสื่อสาร มีสัดส่วนร้อยละ 10.6 เท่ากัน และเมื่อพิจารณาด้านช่องทาง พบว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 รองลงมา ได้แก่ อินสตาแกรม (Instagram) ร้อยละ 24.2 ยูทูบ (YouTube) ร้อยละ 16.5 ติ๊กต๊อก (TikTok) ร้อยละ 14.6 และทวิตเตอร์ (Twitter) ร้อยละ 9.4 ตามลำดับ โดยในบรรดาแพลตฟอร์มเหล่านี้ ติ๊กต๊อกเป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ประเภท Nano Influencer และ Micro Influencer

สำหรับรายงานการสำรวจ The State of Influencer Marketing 2023 โดย Influencer Marketing Hub เว็บไซต์ด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของโลก พบว่า การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกเริ่มต้นในปี 2549 ด้วยมูลค่าตลาดเพียง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ จนกระทั่งถึงปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.67 จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 21,100 ล้านเหรียญสหรัฐ