“เกือบไปแล้ว…ตึกอำนวยการกรมปศุสัตว์” มรดกของคนไทย เจาะกลางใจโดย ขุนพิเรนทร์
ริมถนนพญาไท ติดกับสถานีรถไฟฟ้า ทำเลย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ นี่เป็น สถานที่ราชการแห่งเดียวของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ตั้งอยู่ในระแวกนั้น
“ขุนพิเรนทร์” มาที่กรมปศุสัตว์ครั้งใด เย็นยะเยือกทุกครั้ง ยิ่งเดินเข้าไปที่อาคารอำนวยการ ซึ่งเป็นสถานที่แถลงข่าวประจำของกรมปศุสัตว์ เกิดคำถามขึ้นในใจหลายต่อหลายครั้ง ไม่ใช่เพราะความเก่าแก่ความงดงามทางสถาปัตย์กรรมอย่างเดียว แต่คำถามคือจะทำอย่างไรให้ อาคารที่ตั้งสำนักงานของกรมปศุสัตว์วัฒนาสถาพร เป็นเอกลักษณ์แบบนี้ตลอดไป
อาคารอำนวยการ กรมปศุสัตว์ อาคารเก่าแก่แห่งนี้ สร้างอย่างยุโรปโบราณ หน้าบันประดับรูปปั้นนูนต่ำรูปคนยืนคู่กับม้า บนถนนพญาไท แห่งนี้ แต่เดิมคือ บ้านพระยาคทาธรบดี (เทียบ อัศวรักษ์) สารถีรถม้าพระที่นั่งในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ใน พ.ศ. 2494 บ้านหลังนี้ถูกซื้อโดยกระทรวงเกษตราธิการ เพื่อนำมาใช้เป็นที่ทำการของ “กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ” แห่งใหม่ เนื่องจากที่ทำการเดิม ที่วังพระองค์เจ้าคำรบ(บ้านเจ้าพระยา) ถนนพระอาทิตย์มีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยับขยายได้
จากวันนั้นจวบจนปัจจุบัน ตึกอาคารอำนวยการแห่งนี้ โดดเด่นเป็นสง่า เป็นเอกลักษณ์ และสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกรมปศุสัตว์
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ อาคารแห่งนี้ผ่านแรงเสียดทาน ผ่านความพยายามหลายอย่างเพื่อให้ดำรงอยู่จนถึงวันนี้
หลายปีมาแล้ว ขณะที่บ้านเมืองรอบข้าง ตึกอาคารระฟ้ากำลังก่อสร้างล้อมรอบ มีความพยายามทางฟากฝั่งการเมือง มีแนวคิดจะย้ายกรมปศุสัตว์ไปที่อื่น เพื่อเปิดทางให้สามารถนำที่ดินไปพัฒนาเชิงธุรกิจ แม้รู้ทั้งรู้ว่าไม่มีทางจะทำเรื่องแบบนี้สำเร็จได้ แต่ยังพยายาม เพราะมูลค่าที่ดินริมถนนพญาไท ติดสถานีรถไฟฟ้า เป็นทำเลทองของย่านการค้าและที่พักอาศัย สุดท้ายฟากข้าราชการพยายามหยุดยื้อและหาทางรักษามรดกของแผ่นดินไว้ การขึ้นทะเบียนตึกอำนวยการและบริเวณล้อมรอบเป็นโบราณสถานเป็นทางออกอย่างหนึ่ง
ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 เผยแพร่ ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดเขตที่ดิน โบราณสถานตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ให้มีพื้นที่โบราณสถาน 3 ไร่ 57.75 ตารางวา ประกาศ ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ลงนามโดยนายประทีปเพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นเสมือนหนึ่งน้ำทิพย์ชโลมใจคนกรมปศุสัตว์
ประกาศฉบับนี้ไม่เพียงแต่คุ้มครองตึกอำนวยการกรมปศุสัตว์เท่านั้นแต่หมายรวมไปถึงที่ดินที่ตั้งสำนักงานทั้งหมดให้เป็นเขตที่ตั้งโบราณสถาน ปิดฉากความพยายามของการเมืองในอดีต
“ขุนพิเรนทร์” เคยสัมภาษณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์คนปัจจุบัน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ถึงเรื่องนี้ ภาพจับที่อก ตรงกลางหัวใจแทนความรู้สึกมากมายของท่านอธิบดีที่สามารถรักษามรดกของกรมปศุสัตว์ มรดกของแผ่นดินไว้ได้
แม้ไม่ได้พูดออกมาชัดๆ แต่กับประวัติศาสตร์ยาวนานแห่งนี้….ต้องบอกตรงๆเลยว่า เกือบไปแล้ววววววว