กรมวิชาการเกษตรแนะปฏิทินการผลิตมังคุดคุณภาพ(ในรอบ 12 เดือน)รับฤดูกาลส่งออกปี 2566เน้นย้ำให้ได้ผลผลิตคุณภาพและลดต้นทุนการผลิต

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า 8 เดือนแรกของปี 2565  ไทยมีมูลค่ารวมของการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดแสนล้านบาท เป็นการส่งออกมังคุดมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท มังคุดจึงเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับประเทศอีกชนิดหนึ่ง 

การแข่งขันในการส่งออกมังคุดไปยังตลาดต่างประเทศ ประเด็นที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ คุณภาพของมังคุด ซึ่งมังคุดที่มีคุณภาพดีย่อมเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค กรมวิชาการเกษตร มีคำแนะนำให้เกษตรกรรักษาคุณภาพในการผลิตมังคุดคุณภาพในฤดูกาลถัดไป 4 กิจกรรมใหญ่ๆ ที่จะบำรุงรักษาต้นมังคุดให้ได้ผลผลิตที่ดีในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกภายหลังการเก็บเกี่ยวมังคุดดังนี้

4AA07E67 275C 47C4 8F21 C127FBDFC784

การเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการออกดอก (ก.ค-ต.ค) แนะนำให้ มีการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มและตัดกิ่งแห้งหรือเป็นโรคออก เพื่อทำให้ทรงพุ่มโปร่ง กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และให้แตกใบอ่อนอย่างน้อย 1 ชุด สำรวจการเข้าทำลายของศัตรูมังคุด ทำการป้องกันโรคและแมลงที่สำคัญตามความจำเป็น ได้แก่ โรคใบจุด โรคจุดสนิม เพลี้ยไฟ หนอนกินใบอ่อน และหนอนชอนใบแนะนำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีทางดินอีก 1 ครั้ง ก่อนสิ้นฤดูฝนประมาณ 1 เดือน เพื่อส่งเสริมความสมบูรณ์ของต้น

การจัดการเพื่อให้มังคุดออกดอกและติดผลดี (พ.ย-ธ.ค) แนะนำให้ งดการให้น้ำต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20-30 วัน เพื่อให้ต้นมังคุดเกิดสภาพเครียดเพื่อชักนำการออกดอก เมื่อสังเกตุเห็นต้นมังคุดมีอาการใบตกก้านใบ และกิ่งที่ปลายยอดเริ่มแสดงอาการเหี่ยวเป็นร่อง ต้องเริ่มให้น้ำโดยการให้น้ำเต็มที่ ( 35-40 ลิตรต่อพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตร) เว้นระยะการให้น้ำหลังจากนั้นประมาณ 7-10 วัน ให้น้ำครั้งที่สองในปริมาณประมาณ 50% ของการให้น้ำครั้งแรก ในช่วงมังคุดเริ่มออกดอกถึงระยะดอกบาน สำรวจการเข้าทำลายดอกของศัตรูมังคุด ทำการป้องกันกำจัดศัตรูดอกมังคุดที่สำคัญตามความจำเป็น ได้แก่ เพลี้ยไฟ 

1BC46193 BEF6 41C8 8629 4BAF14A36B8C

การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณคุณภาพและผลผลิต (ม.ค-เม.ย) เกษตรกรควรสำรวจศัตรูทำลายผลทำการป้องกันกำจัดศัตรูผลมังคุดที่สำคัญตามความจำเป็น ได้แก่ เพลี้ยไฟ และ ไรขาว ใส่ปุ๋ยเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการของผล เพิ่มปริมาณการให้น้ำจากอัตรา 80% เป็น 90% ของอัตราการระเหยน้ำจากถาดระเหยน้ำชนิด A และช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน ให้น้ำอัตรา 80% ของอัตราการระเหยน้ำจากถาดระเหยน้ำชนิด A ทุก 3 วัน ต่อเนื่องจนเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันการเกิดอาการเนื้อแก้วและยางไหลภายในผล

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวในสวน (พ.ค-มิ.ย)  แนะนำให้ เกษตรกรเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องมือที่ป้องกันไม่ให้ผลมังคุดร่วงหล่นหรือกระแทกรุนแรง ระวังอย่าให้ขั้วหัก หรือกลีบเลี้ยงช้ำ เลือกเก็บเฉพาะผลที่สุกแก่ในระยะสายเลือด หลังการเก็บเกี่ยวผลมังคุดแล้ว เก็บไว้ในที่ร่ม ทำความสะอาดผลและคัดแยกคุณภาพก่อนจำหน่าย ห้ามเก็บผลมังคุดที่ร่วงหล่นลงพื้น และผลที่มีอาการเนื้อแก้วและยางไหลภายในผลมาปะปนในผลมังคุดคุณภาพ เพื่อป้องกันความเสียหายเมื่อทำการส่งออก

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า คำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของธุรกิจมังคุดก็คือ ควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อให้มังคุดไทยสามารถแข่งขันได้ ในส่วนของการคัดบรรจุ ต้องเข้มงวดตามมาตรการต่าง ๆ ที่กรมวิชาการเกษตรวางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความเชื่อมั่นในการส่งออกมังคุดไทยไปยังตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของไทย