รัฐบาลแจงประเทศไทยเจอพายุและมรสุม ทำฝนตกหนักในรอบ 30 ปี ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมวิกฤติในหลายพื้นที่

การลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมของนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดสิงห์บุรีเมื่อวานนี้ ช่วงหนึ่งได้กล่าวย้ำกับเจ้าหน้าที่ ให้เร่งสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์น้ำท่วมให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น ล่าสุดวันนี้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี(PMOC) ได้ออกมาอธิบายถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยเผชิญ ทั้งจากพายุและมรสุม จนทำให้เกิดฝนตกมากในรอบ 30 ปี และเกิดวิกฤตน้ำท่วมในหลายจังหวัด 

โดย PMOC ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากสภาพภูมิอากาศเกิดร่องมรสุม และพายุอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปีนี้ประเทศไทยมีสถิติฝนตกสูงมากกว่าปกติ และในบางจังหวัดทุบสถิติฝนตกมากที่สุดในรอบ 30 ปี

ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมี ดังนี้

1.ร่องมรสุมพัดพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 2 – 8 สิงหาคม 

ส่งผลให้ฝนตก และฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศไทย หลายพื้นที่ในภาคเหนือ, ตะวันตก, ตะวันออก, ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีปริมาณฝนตกหนักมากกว่า 125  มิลลิเมตร(125 ลิตรต่อตารางเมตร) ในหลายพื้นที่

2. พายุดีเพรสชัน มู่หลาน ระหว่างวันที่ 11 – 13 สิงหาคม

ส่งผลให้ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมแทบจะทุกภูมิภาคของประเทศไทย พื้นที่ที่ฝนตกอย่างหนักคือจังหวัดน่านตอนบนที่ รองลงมาคือเชียงรายและเชียงใหม่, กาญจนบุรี, สระแก้ว และปราจีนบุรี 

ในหลายพื้นที่มีฝนตกหนักมากกว่า 100 มิลลิเมตร (100 ลิตรต่อตารางเมตร)

3.ร่องมรสุมพัดพาดผ่านภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 20 – 22 สิงหาคม

ส่งผลให้ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย พื้นที่ที่ฝนตกอย่างหนักคือจังหวัดยโสธร, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, น่าน, พังงา และระนอง รองลงมาคือจังหวัด สกลนคร, อุดรธานี, พิษณุโลก, จันทบุรี และตราด 

ในหลายพื้นที่มีฝนตกหนักมากกว่า 100 มิลลิเมตร (100 ลิตรต่อตารางเมตร)

4.พายุดีเพรสชัน หมาอ๊อน ระหว่างวันที่ 24 – 26 สิงหาคม

ส่งผลให้ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย พื้นที่ที่ฝนตกอย่างหนักคือจังหวัดปราจีนบุรี, ลำปาง, พังงา และภูเก็ต รองลงมาคือจังหวัดลพบุรี, นครสวรรค์, ชัยนาท, สิงห์บุรี และกระบี่ 

ในหลายพื้นที่มีฝนตกหนักมากกว่า 100 มิลลิเมตร (100 ลิตรต่อตารางเมตร)

5.ร่องมรสุมกำลังแรงพัดพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 5 – 9 กันยายน

ส่งผลให้ฝนตก และฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศไทย พื้นที่ที่ฝนตกอย่างหนักคือกรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, เลย, ตาก, นครสวรรค์, พิษณุโลก, ระนอง, พังงา และสุราษฎร์ธานี รองลงมาคือจังหวัดปราจีนบุรี, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, เชียงใหม่, เชียงราย และ กำแพงเพชร

บางพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตร (200 ลิตรต่อตารางเมตร)

6.ร่องมรสุมพัดพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 6 – 11 กันยายน

ส่งผลให้ฝนตก และฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศไทย พื้นที่ที่ฝนตกอย่างหนักคือกรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, สระแก้ว, ปราจีนบุรี, นครราชสีมา, เลย, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, นครสวรรค์, เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน, ลำปาง, ระนอง และพังงา

บางพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักมากกว่า 300 มิลลิเมตร (300 ลิตรต่อตารางเมตร)

7.พายุดีเพรสชัน โนรู ระหว่างวันที่ 28 – 30 กันยายน

ส่งผลให้ฝนตก และฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศไทย พื้นที่ที่ฝนตกอย่างหนักคือจังหวัดอุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, ยโสธร, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, บุรีรัมย์, นครสวรรค์, เพชรบูรณ์, ลพบุรี, ระนอง, พังงา. สุราษฎร์ธานี และสตูล รองลงมาคือจังหวัดเลย, อุดรธานี, ตาก และชุมพร

บางพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตร (200 ลิตรต่อตารางเมตร)

8.พายุดีเพรสชัน เซินก้า ระหว่างวันที่ 14 – 17 ตุลาคม

ส่งผลให้ฝนตกหนักในภาคใต้ฝั่งอันดามัน และฝนตกในภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันตก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย พื้นที่ที่ฝนตกอย่างหนักคือจังหวัดชุมพร, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต และสตูล

บางพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตร (200 ลิตรต่อตารางเมตร) 

สำหรับการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี มีการพยากรณ์สถานการณ์น้ำล่วงหน้า 6 เดือน เพื่อให้รัฐบาลสามารถเตรียมการได้อย่างทันท่วงที

ในปัจจุบัน สถานการณ์น้ำท่วมดีขึ้นแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถลดพื้นที่ประสบอุทกภัยจาก 54 จังหวัด ให้เหลือเพียง 28 จังหวัด พื้นที่ประสบอุทกภัยในปัจจุบันลดลงเหลือ 1,214,020 ไร่ คิดเป็น 0.4% ของประเทศเท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม) อีกทั้งเส้นทางคมนาคมหลัก, พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ และนิคมอุตสาหกรรม แทบจะไม่ได้รับผลกระทบ

แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งการลงไปแล้วให้เร่งประเมินวางแผนการเยียวยาล่วงหน้า โดยไม่รอให้น้ำลด ซึ่งนั่นจะไม่ทันการ

6DCA4ED5 2C9D 4C11 AAF7 830F5D68E90B