“กาแฟขุนน่าน”จากความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ ดิน และองค์ความรู้ ความเข้มแข็งของเกษตรกร นำพาสู่แบรนด์กาแฟสากล

ด้วยความสูงมากกว่า 1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทำให้บ้านเปียงก่อและบ้านเปียงซ้อ สองหมู่บ้านพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ ในตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้รับการพัฒนาระบบน้ำและดินสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2554  มีความเหมาะสมมากในการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า การส่งเสริมอาชีพควบคู่การปลูกป่า 

ซึ่งสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริดำเนินการร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกกาแฟ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร

6E8CE4E2 D354 43B0 873A 123B26966CD1

จากปี 2556 ที่มีการปลูกกาแฟต้นแรก ผ่านมา 4 ปี ต้นกาแฟก็ให้ผลผลิตสมบูรณ์เต็มที่ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ จากปีแรกที่เฉลี่ยอยู่ที่รายละ 20,000 – 30,000 บาท ในพื้นที่ปลูกไม่กี่ร้อยตารางวา กระโดดขึ้นมาเป็นปีละ 80,000 บาท เพิ่มเป็น 120,000 บาทต่อราย และคงเส้นคงวามาโดยตลอด จากการขายกาแฟแบบเชอร์รี่ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท

สาเหตุที่รายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟก้าวกระโดด นับตั้งแต่ปี 2560 มานั้น เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้ข้อมูลว่า เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้นกาแฟเริ่มสมบูรณ์เต็มที่ และการมีน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ มีดินที่มีความอุดมสมบูรณ์  

หลังจากที่ สถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ ปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ และเชื่อมโยงกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เข้ามาให้องค์ความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่วิธีการเพาะ วิธีปลูกการวางแปลง การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด

1C1175D4 D203 4250 9777 D960AE7BB957

จากระยะแรกที่มีการจำหน่ายผลผลิตกาแฟให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งได้นำกาแฟจากพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ ไปผลิตเป็นกาแฟสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ “กาแฟดอยตุง” จำนวน 20 ตัน จากผลผลิตทั้งหมดที่มีอยู่ปีละ 30 ตัน ซึ่งปัจจุบันกาแฟจากที่นี่ มีการนำไปผลิตและจำหน่ายไปทั้งในและต่างประเทศแล้ว ด้วยคุณภาพของกาแฟที่ได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติเข้มข้น หอมกรุ่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ในปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการนำกาแฟส่งขายให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จำนวน 11 ตัน ส่วนอีก 19 ตันนั้นเกษตรกรได้ร่วมกันสร้างแบรนด์กาแฟของตนขึ้น เช่น กาแฟภูแว กาแฟไทลั้วะ กาแฟเจียงลั้วะ เป็นต้นรวมทั้งมีการเปิดเป็นร้านกาแฟ เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว ที่เดินทางขึ้นมาเยี่ยมชมดอยเขาขุนน่าน

C8453C7D F610 49CA 96ED BF2403AB0EE2

เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาอาชีพปลูกกาแฟให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จากการขายผลกาแฟเชอร์รี่ในราคากิโลกรัมละ 20 บาทที่เป็นอยู่ หากมีการพัฒนาต่อเป็นการขายกะลา ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ถ้าสีแล้ว ราคาจะขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 500 บาท หากคั่วและชงเองแล้ว ราคากาแฟจะขึ้นไปได้ถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท รวมทั้งที่แนวคิดในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนอีกด้วย

12059D06 3FBE 4587 8E84 E2DDA4129F78
9BC9D46E 8F64 4A25 8555 30FF35B3E1B6

เกษตรกรหลายรายยอมรับว่า รายได้จากการปลูกและขายกาแฟนั้น ดีกว่ารายได้จากการปลูกข้าวไร่และข้าวโพด ซึ่งจะมีรายได้เพียงปีละ 5,000 บาท ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟเป็นรายได้หลัก 

บ้านเปียงซ้อ และบ้านเปียงก่อ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เป็นสองหมู่บ้านพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ ตั้งแต่ปี 2552  เพื่อแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำถูกบุกรุกทำลาย ปัญหาความยากจนของราษฎร และยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน