จีนเผยคำสั่งห้าม ‘จับปลาแม่น้ำแยงซี’ สร้างผลลัพธ์สัตว์น้ำฟื้นตัว

กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีน รายงานว่าคำสั่งห้ามจับปลาตามน่านน้ำสำคัญของลุ่มแม่น้ำแยงซี ระยะ 10 ปี สร้างความก้าวหน้าอันเป็นรูปธรรมในการอนุรักษ์ระบบนิเวศวิทยา โดยทรัพยากรชีวภาพสัตว์น้ำทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

รายงานระบุว่ามีการพบเจอโลมาหัวบาตรหลังเรียบแยงซี ซึ่งเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์เจ้าของสมญานาม“แพนด้ายักษ์แห่งน่านน้ำ” ในทะเลสาบโผหยาง ทะเลสาบต้งถิง รวมถึงตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำแยงซีบ่อยครั้งยิ่งขึ้น

จำนวนไข่ปลาคาร์ปจีน 4 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ ปลาคาร์ปดำ ปลาคาร์ปกินหญ้าหรือปลาเฉา ปลาคาร์ปเกล็ดเงินหรือปลาลิ่น และปลาคาร์ปหัวโต ภายในแม่น้ำแยงซี ช่วงเมืองเจี้ยนลี่ของมณฑลหูเป่ย เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 100 ล้านฟองเป็น 7.87 พันล้านฟองในช่วงฤดูขยายพันธุ์

D0B4F3FC A440 4108 81F7 FB0B5C4959EB

ถังเหรินเจี้ยน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ แถลงข่าวว่าสำนักการเกษตรท้องถิ่นได้สืบสวนสอบสวนกรณีการจับปลาอย่างผิดกฎหมายตามแม่น้ำแยงซีทั้งหมด 18,525 กรณีในปี 2022 และส่งต่อผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดสู่กระบวนการทางกฎหมาย 3,462 ราย

ถังกล่าวว่าทางการท้องถิ่นจะเดินหน้าดำเนินนโยบายต่างๆ ที่มุ่งมอบโอกาสตั้งถิ่นฐานใหม่และการสนับสนุนอื่นๆ แก่ประชาชนที่เคยเกี่ยวข้องกับธุรกิจจับปลา รวมถึงจะเฝ้าติดตามประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เสี่ยงกลับสู่ความยากจนและให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

นอกจากนั้นกระทรวงฯ จะพยายามส่งเสริมการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามแนวแม่น้ำแยงซี การใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนเชิงนโยบาย และการฝึกอบรมทางเทคนิคหากเงื่อนไขต่างๆ เอื้ออำนวย

จีน บังคับใช้คำสั่งห้ามจับปลาอย่างเต็มรูปแบบตามพื้นที่อนุรักษ์ของลุ่มแม่น้ำแยงซี จำนวน 332 แห่งตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 เพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการขยายระยะเวลาของคำสั่งห้ามนี้เป็น 10 ปี ในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขาสายสำคัญ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2021

9204968F 3E14 42B0 A6D2 7EB9C1FC507B

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)