จีนเริ่มขุด ‘หลุมลึกพิเศษ’ กว่า 10,000 เมตร มุ่งสำรวจแดนใต้พิภพ

จีนเริ่มดำเนินการขุดเจาะหลุมแห่งแรกของประเทศที่จะมีความลึกมากกว่า 10,000 เมตร บริเวณแอ่งทาริม (Tarim Basin) เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ สำหรับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์

งานขุดเจาะเริ่มดำเนินการตอน 11.46 น. ของวันอังคาร (30 พ.ค.) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญด้านการสำรวจพื้นโลกระดับลึกของจีน และมอบโอกาสอันไม่เคยปรากฏมาก่อนในการศึกษาพื้นที่ที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวโลก โดยหลุมเจาะนี้มีความลึกออกแบบ 11,100 เมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของ “ทากลิมากัน” ทะเลทรายขนาดใหญ่ที่สุดของจีน

รายงานระบุว่าชุดอุปกรณ์อย่างหัวเจาะและท่อเจาะ ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 2,000 ตัน จะทำการเจาะลึกลงไปในพื้นโลกจนทะลุผ่านชั้นหินภาคพื้นทวีปมากกว่า 10 ชั้น ซึ่งรวมถึงชั้นหินยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ระหว่างกระบวนการขุดเจาะ

IMG 3967

หวังชุนเซิง ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคที่ร่วมงานขุดเจาะ ระบุว่าการขุดเจาะหลุมลึกมากกว่า 10,000 เมตร นับเป็นความพยายามอันกล้าหาญในการสำรวจดินแดนที่ไม่รู้จักมาก่อนของโลกและขยายขอบเขตความเข้าใจของมนุษย์

ซุนจินเซิง นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่าความยากของโครงการขุดเจาะนี้เทียบเท่ากับการขับรถบรรทุกขนาดใหญ่บนสายเคเบิลเหล็กบางๆ สองเส้น

อนึ่ง แอ่งทาริมจัดเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากที่สุดสำหรับการสำรวจเนื่องจากสภาพแวดล้อมพื้นดินอันทุรกันดารและสภาพแวดล้อมใต้ดินที่ซับซ้อน

IMG 3965
IMG 3968
IMG 3961

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)