ชลประทานเร่งสูบน้ำช่วยเหลือชาวนาเมืองสุพรรณ หลังฝนตกหนักน้ำท่วมขัง

กรมชลประทาน เร่งช่วยเหลือชาวอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ระดมเครื่องจักรเครื่องมือซ่อมแซมคันดิน พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วมขัง หลังมีฝนตกหนักในพื้นที่ ปัจจุบันระดับน้ำท่วมลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว

นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้นและกัดเซาะคันดินพัง ซึ่งบริเวณประตูระบายน้ำดอนยอ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นส่วนหนึ่งของงานก่อสร้างคันกั้นน้ำคลองสองพี่น้องฝั่งซ้าย เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี เพราะเป็นจุดรับน้ำทั้งจากตัวเมืองสุพรรณและน้ำที่ไหลจากเมืองกาญจนบุรีผ่านทางคลองสองพี่น้องลงมาตามคลองจระเข้สามพัน 

2570AB17 8046 4CD8 AC44 5DE7B64E9EDF

ประกอบกับหากระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณมาก จะทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรได้ ซึ่งปริมาณน้ำจำนวนมากนี้ ได้ไหลมาสะสมจนทำให้คันดินบริเวณจุดก่อสร้างเกิดความเสียหายมีความยาวประมาณ 10 เมตร เป็นผลให้เกิดน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกข้าวของราษฎรบริเวณหมู่ที่ 5 บ้านดอนยอ ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่นาข้าวที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 140 ไร่ 

1C153D3E 0F0C 4145 BD94 73043971BA48

ทั้งนี้ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2565 ได้สั่งการให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 12 นำเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์เข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเร่งดำเนินการเสริมคันดินในพื้นที่บางส่วนที่ยังไม่เสียหาย เพื่อยกระดับคันดินให้สูงขึ้น เนื่องจากยังคงมีน้ำไหลเข้ามาสะสมอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจทำให้น้ำเกิดการยกตัวเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ด้านในคันกั้นน้ำได้ 

3080E508 5CD1 4DD2 8AC3 8CD7EE6DB0C1

ส่วนจุดที่เสียหายได้นำรถแบ๊คโฮลงโป๊ะ 2 ลำ เร่งซ่อมแซมคันดิน วันที่ 7 สิงหาคม 2565 ได้ดำเนินการเสริมคันดินให้มีความแข็งแรงมากขึ้นพร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1 เครื่อง ระบายน้ำในอัตรา 0.3 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่การเกษตร 

และวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ได้นำรถแบ๊คโฮทำการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้สามารถไหลได้ดีขึ้น ปัจจุบันระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่องคาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายในระยะเวลา 10 วันนี้ พร้อมกันนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับท้องถิ่น เพื่อร่วมกันติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

D36E48D4 BFAE 47AF 9C63 BB2700698CCE