วันนี้ (12 ก.ย.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (12 ก.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 50,510 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 25,579 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน14,035 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 10,836 ล้าน ลบ.ม.
จากการคาดการณ์ของกรุมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 12 – 13 ก.ย. 65 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศกัมพูชา ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ และในช่วงวันที่ 14 – 18 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ทั้งนี้จากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินการแจ้งเตือนไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะปรับเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ เป็น1800-2000 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2565 ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ทำให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ในช่วงวันที่ 16-17 กันยายน 2565
ดังนั้นจึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ และให้จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดัน ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มกำลังรวมทั้งให้เร่งรีบแก้ไขปัญหาในจุดที่มีน้ำท่วม ให้กลับเข้าสู่สภาวะปรกติโดยเร็ว ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกันน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมทั้งปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด ตามข้อสั่งการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที