ชลประทานสั่งทุกหน่วยติดตามสถานการณ์ฝนระลอกล่าสุด 14-21 ก.ย.นี้ เตรียมพร้อมรับมือตลอด24ชั่วโมง

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภายหลังจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หลังน้ำฝนตกหนักต่อเนื่อง ขอให้พี่น้องประขาชนมั่นใจเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในสถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 14 – 18 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ และให้จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดัน ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มกำลัง รวมทั้งให้เร่งรีบแก้ไขปัญหาในจุดที่มีน้ำท่วม ให้กลับเข้าสู่สภาวะปรกติโดยเร็ว 

ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกันน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมทั้งปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี2565 อย่างเคร่งครัด ตามข้อสั่งการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที  

EFA09393 19B5 45CC 957F 00CC269F28C4

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (15 ก.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 51,600 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68  ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 24,491 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,603  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ59  ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 10,268  ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ยังยืนยันยังไม่มีแผนผันน้ำเข้าพื้นที่ทุ่งนา 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา เนื่องจากขณะนี้ ยังคงบริหารจัดการน้ำเหนือในแม่น้ำเจ้าพระยาระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้ในอัตรา 1,800 – 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีและเร่งระบายลงทะเลได้โดยเร็ว 

พร้อมทั้งได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการ 11 จังหวัดในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง คือ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาทสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานครให้แจ้งเตือนผู้ที่อยู่อาศัย ประกอบกิจการ ริมแม่น้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้น

0AA3DD57 82F9 40EE 9207 1EF107DF3E58

และยังได้เร่งนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือชาวนาที่ถูกน้ำท่วม จากฝนตกหนักแล้ว เพื่อให้ชาวนาสามารถเก็บเกี่ยวข้าวที่ปลูกได้ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าน่าจะเก็บเกี่ยวหมดไม่เกินปลายเดือน ก.ย. นี้ และสั่งการเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ทำงาน 24 ชั่วโมง เตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกล ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

113A814D F6FB 4826 BB85 09698910E600

ด้านการช่วยเหลือพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  กรมชลประทาน  ได้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง พร้อมตรวจสอบระบบชลประทาน สถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำต่างๆ ที่มีจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้มีความพร้อมในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ  เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ ให้พร้อมใช้งานและเข้าไปสนับสนุนการระบายน้ำได้ตลอดเวลา รวมทั้งได้เน้นย้ำให้เร่งรัดการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่อาจตกลงมาเพิ่มได้อีกในระยะต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน