กรมชลฯเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือและพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ช่วยเกษตรกรชาวกำแพงเพชรและพิจิตร

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการซ่อมแซมฝายชั่วคราววังบัว ต.เทพนคร อ.เมือง และฝายชั่วคราววังยาง ต.วังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร หลังถูกน้ำกัดเซาะเสียหายและเกิดการทรุดตัวลงในช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา โดยในระยะเร่งด่วนได้ดำเนินการใช้หินขนาดใหญ่ถมปิดทับฝายเดิม เพื่อชะลอน้ำและยกระดับน้ำในแม่น้ำปิงให้สูงขึ้น ให้สามารถส่งน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรและพิจิตร ที่ปัจจุบันเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังแล้วในหลายพื้นที่ และเตรียมพร้อมเข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้น้ำกระจายเข้าสู่พื้นที่การเกษตรได้อย่างทั่วถึง ลดผลกระทบต่อประชาชน เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรและพิจิตร

313369003 503004331872645 8877845914733543140 n
เร่งช่วยเกษตรกรชาวกำแพงเพชรและพิจิตร

ทั้งนี้ในระยะยาว กรมชลประทานได้วางแผนปรับปรุงฝายชั่วคราวในลำน้ำปิง ให้มีความมั่นคงถาวร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำสำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังยาง-หนองขวัญ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และนครสวรรค์ (บางส่วน) รวมพื้นที่กว่า 1.90 ล้านไร่

กรมชลฯเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำอ่างฯ ห้วยศาลา เพิ่มพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้ง 30,000 ไร่

ด้านนายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายวัชเรนทร์ เเววดี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 ร่วมกับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานในพื้นที่ ดำเนินการเสริมกระสอบทรายเพื่อทำการปิดบริเวณช่องทางระบายน้ำของอาคารระบายน้ำล้น (spillway) อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การเสริมกระสอบทรายความสูง 50 เซนติเมตร จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักอีกประมาณ 3.50 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้งปี 2566 ได้มากยิ่งขึ้น สำหรับอ่างเก็บน้ำดังกล่าว มีความจุ 37.07 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บกักได้ 37.84 ลูกบาศก์เมตรคิด คิดเป็นร้อยละ 102.09 มีพื้นที่ชลประทานทั้งสิ้น 24,000 ไร่

สำหรับการดำเนินการเพิ่มศักยภาพระดับน้ำเก็บกักดังกล่าว เป็นการดำเนินการแห่งที่ 6 โดยสามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 30,000 ไร่ มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพียงพอต่อความต้องการของราษฎรในช่วงฤดูแล้งปี 2566 นี้

กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 30 ต.ค. – 1 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง และอุณหภูมิจะลดลง 1 – 2 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะเริ่มลดลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงในระยะถัดไป

ส่วนในช่วงวันที่ 2 – 5 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงอีก 2 – 4 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง

สำหรับร่องมรสุมจะเลื่อนไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยคลื่นลมบริเวณ ทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 – 2 เมตร ตลอดช่วง

ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควร เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง