เตือนชาวนา ช่วงนี้ยังมีฝนอาจกระทบเก็บเกี่ยว แนะติดตามประกาศกรมอุตุฯอย่างใกล้ชิดหาวิธีป้องกันและดูแลคุณภาพข้าว
27 พ.ย.65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า เนื่องจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาได้ระบุถึงสภาพอากาศว่า ในระยะนี้หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยจะยังมีฝนตกเป็นวงกว้าง ทั้งภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขณะนี้อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวและตากผลผลิตตามฤดูการเก็บเกี่ยว ให้ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิต อาทิ ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดเลือกวันเก็บเกี่ยวก่อนหรือหลังวันที่คาดว่าจะมีฝน มีพื้นที่กองข้าวและวัสดุคลุมกองข้าวเพื่อป้องกันฝนที่เหมาะสม
ทั้งนี้หากไม่มีมาตรการดูแลป้องกันที่เหมาะสมจะทำให้เกิดความเสียหายผลกระทบทั้งในเชิงปริมาณ น้ำหนัก และคุณภาพ เกิดความชื้น เนื้อข้าวมีสีเหลือง มีกลิ่น ขึ้นราหรือเกิดท้องไข่ และเมื่อนำมาสีก็จะมีผลทำให้เมล็ดเกิดการแตกหัก และจะได้ข้าวไม่เต็มเมล็ดเท่าที่ควร และขอให้ดูแลความปลอดภัยในขั้นตอนการตากผลผลิต เนื่องจากหลายพื้นที่ประชาชนนิยมนำข้าวมาตากบนถนนในหมู่บ้านและชุมชน กีดขวางการจราจรและเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขอให้เกษตรกรติดตามการแจ้งเตือนสภาพอากาศจากกรมอุตุวิทยาอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 26 – 29 พ.ย. 65 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก ยังคงมีฝน ส่วนในวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่ง จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง ขณะที่ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเก็บเกี่ยวข้าวจะกระทำเมื่อผลแก่จัดเต็มที่อายุประมาณ 30 วันหลังดอกบาน มีความชื้นภายในผลหรือเมล็ดประมาณ 21-24 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระยะที่เมล็ดบริเวณโคนรวงมีสีเหลืองทั่วกันทั้งหมด หรืออาจเก็บเกี่ยวในระยะที่เมล็ดข้าวสุกเหลืองเกือบทั้งรวง ประมาณร้อยละ 80 ถ้าเก็บเกี่ยวข้าวช้าเกินไป จะทำให้คอรวงหักและเมล็ดร่วงเสียหาย
ในการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนจะใช้เคียวเกี่ยวข้าว ซึ่งมี 2 ชนิด คือ เคียวนาสวนที่มีวงกว้าง และเคียวนาเมืองที่มีวงแคบ ในภาคใต้ของประเทศไทยมีการเก็บเกี่ยวโดยการใช้แกระ เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเก็บเกี่ยวได้ทีละรวงทำให้เสียเวลาในการเก็บเกี่ยวมาก
ในปัจจุบันมีการปรับพื้นที่นาให้เป็นแปลงนาขนาดใหญ่และมีพื้นที่เหมาะสมต่อการรองรับน้ำหนักของรถเกี่ยวข้าวที่มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้ประหยัดเวลาและแรงงานในการเกี่ยวข้าว ซึ่งพันธุ์ข้าวที่เกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวข้าวต้องมีความเหมาะสมด้วย
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ( ปภ. )รายงานยังคงมีน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี รวม 3 อำเภอ 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 247 ครัวเรือน โดย ปภ. ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมาและการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ส่งผลให้มีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ โดยตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 65 เป็นต้นมา มีพื้นที่ประสบน้ำท่วมรวม 59 จังหวัด รวม 353 อำเภอ 1,879 ตำบล 11,770 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 528,063 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 12 ราย สถานการณ์ปัจจุบัน วันนี้ (27 พ.ย.65 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อุบลราชธานี จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ รวม 4 ตำบล 11 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 247 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ส่วนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปภ. รายงานเกิดน้ำท่วมในพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านบางหยด ตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 50 ครัวเรือน และน้ำยังได้ท่วมถนนสูงประมาณ 70 เซนติเมตร รถไม่สามารถสัญจรได้