กรมชลฯลุยสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯมุ่งบรรเทาแล้ง-น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ทำให้เกษตรกรมีน้ำสำรองไว้ใช้เพาะปลูกกว่า 40,000 ไร่

กรมชลประทาน เผยโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 58 ร่วมพัฒนาพื้นที่ราบเชิงภูเขียวแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชี สนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 49,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ชลประทาน 1.30 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี หนองบัวลำภู และอุดรธานี มีแหล่งน้ำเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาว รวมไปถึงอ่างขนาดกลาง อีก 69 แห่ง แต่เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของลำน้ำชี ที่มีสภาพคดเคี้ยว บางช่วงกว้าง บางช่วงแคบ และเป็นลำน้ำที่ยาวถึง 1,047 กิโลเมตร บริเวณตอนบนมีลักษณะเป็นต้นน้ำ ส่วนบริเวณตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีแม่น้ำหลายสายไหลลงมารวมกันทำให้ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนักจึงไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จนส่งผลให้เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำชีอยู่บ่อยครั้ง ส่วนในฤดูแล้งมักจะประสบภัยแล้ง ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ประกอบกับความต้องการการใช้น้ำของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่9 ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของลำน้ำชีเพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่ ให้มีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และน้ำอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี

กรมชลฯ จึงได้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงภูเขียวตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎร อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบรูณ์ จ.ชัยภูมิ ให้มีน้ำทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคตลอดปี ปัจจุบันดำเนินโครงการแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 58 ของแผนฯ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2567 ตามแผนที่กำหนด หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคและผลิตประปาให้กับประชาชนกว่า 5,145 ครัวเรือน สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้เกษตรกรได้มีน้ำสำรองไว้ใช้เพาะปลูกในช่วงฤดูฝนกว่า 40,000 ไร่ และในฤดูแล้งประมาณ 8,000 ไร่ ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแห่งใหม่ ช่วยเสริมสร้างอาชีพประมงให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะมีน้ำสำหรับรักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำชีและลำน้ำสาขาเพิ่มอีกประมาณปีละ 73 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย

317357353 527175029455575 2675632392783598720 n.jpg?stp=cp6 dst jpg s600x600& nc cat=107&ccb=1 7& nc sid=730e14& nc ohc=RRx9T9GC7b0AX9kHX6n& nc ht=scontent.fbkk12 5
ลุยสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง

317718110 527175056122239 6334837400640440444 n.jpg?stp=dst jpg s600x600& nc cat=110&ccb=1 7& nc sid=730e14& nc ohc=gKkZZl sHu8AX8qjvqV& nc ht=scontent.fbkk13 3
ลุยสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง

317730152 527175066122238 5078699349152859016 n.jpg?stp=dst jpg s600x600& nc cat=106&ccb=1 7& nc sid=730e14& nc ohc=GC2 GjSQCXMAX9zU7aQ& nc ht=scontent.fbkk8 2
ลุยสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง กรมชลประทาน พร้อมรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัย และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ สร้างความมั่นใจสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที ตามข้อสั่งการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)

โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการให้เตรียมความพร้อมรับมือฝนหนักช่วง3– 5 ธ.ค.นี้นั้น ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยกรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยภาคใต้ทั้งหมด 83 จุดเสี่ยง ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัด จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำบริเวณพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ รวมทั้งสิ้น 350 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 440 เครื่อง รวมเครื่องจักร เครื่องมือที่พร้อมสนับสนุนทั้งสิ้น 1,189 หน่วย สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์

“นอกจากนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่ในเกณฑ์ควบคุม การใช้ระบบชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่ กอนช. กำหนดอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด” นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด